รัฐสภาเดินหน้าร่างรธน.วาระ 3 ต้นมิ.ย.หลังลากอภิปราย 15 วันผ่านวาระ 2

ข่าวการเมือง Tuesday May 15, 2012 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่...) พุทธศักราช ... ในวาระ 2 ด้วยการพิจารณาแบบมาราธอนถึง 15 วัน และในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ จะมีการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติวาระ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม

และจากกรอบเวลาการดำเนินงานตามขั้นตอนของ ส.ส.ร.ในแต่ละมาตรา หากเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ ประเทศไทยอาจได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ราวกลางปี 56

สำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ เริ่มต้นวันแรกตั้งแต่ 10 เม.ย.55 ท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียดมีการประท้วงตลอดเวลาจนประธานต้องสักพักการประชุมหลายครั้งกว่าที่ประชุมฯ จะได้พิจารณาลงรายมาตรา เริ่มต้นด้วยมาตรา 1 "ชื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..) พุทธศักราช...." ซึ่งใช้เวลาอภิปรายกว่า 2 ชั่วโมง ที่ประชุมฯ ได้ลงมติเห็นด้วยตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

ต่อด้วยมาตรา 2 "กำหนดให้รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป" หลังใช้เวลาอภิปรายกว่า 1 ชั่วโมง ที่ประชุมฯ ลงมติเห็นด้วยตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

และมาตรา 3 "ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็น (17) การให้ความเห็นชอบ ส.ส.ร.ตามมาตรา 291/1 (2) และ (18) การให้ความเห็นชอบญัตติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ตามมาตรา 291/16 ของมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" หลังใช้เวลาอภิปรายเกือบ 6 ชั่วโมง ที่ประชุมฯ ลงมติเห็นด้วยตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

ต่อมาเป็นการพิจารณามาตรา 4 "ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 291/1 ถึงมาตรา 291/17 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแต่การพิจารณายุติลงในช่วงเย็นหลังประธานสั่งเลื่อนการประชุมเนื่องจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริคเตอร์ และเลื่อนไปพิจารณาต่อในวันที่ 18 เม.ย.55 ซึ่งที่ประชุมฯ ลงมติเห็นด้วยตามร่างของ กมธ.เสียงข้างมาก

หลังจากนั้นพิจารณามาตรา 291/1 "การให้มี ส.ส.ร.ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" แต่ที่ประชุมฯ มาลงมติช่วงกลางดึกวันที่ 19 เม.ย.55 โดยเห็นด้วยตามร่างของ กมธ.เสียงข้างมาก โดยให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละคน รวม 77 คน และมาจากการคัดเลือกของรัฐสภาอีก 22 คน รวมทั้งหมดเป็น 99 คน

ตามด้วยการพิจารณามาตรา 291/2 "ที่มาและคุณสมบัติของ ส.ส.ร." ซึ่งลงมติเห็นด้วยตามร่างของ กมธ.เสียงข้างมาก โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิในการสมัครเลือกตั้งเพื่อเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี, มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในจังหวัดที่รับสมัครไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีการกำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ

ต่อด้วยมาตรา 291/3 "ลักษณะและคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส.ร." ซึ่งมีการลงมติในช่วงกลางดึกเห็นด้วยตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

การพิจารณามาตรา 291/4 "คุณสมบัติของบุคคลที่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง และห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร." ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นด้วยตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

ต่อด้วยมาตรา 291/5 "การให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม การวินิจฉัยผ่านเกี่ยวกับการตัดสิทธิทางการเลือกตั้ง"หลังอภิปรายมานานถึง 3 วัน และที่ประชุมฯ ลงมติช่วงกลางดึกวันที่ 24 เม.ย.55 เห็นด้วยตามที่กรรมาธิการแก้ไขเข้าใหม่

จากนั้นที่ประชุมฯ เริ่มพิจารณามาตรา 291/6 "ให้รัฐสภาดำเนินการคัดเลือก ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จภายใน 75 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 291/5 มีผลใช้บังคับ, ให้สภาของสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาคเศรษฐกิจ สังคม และองค์กรภาคเอกชน แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติที่จะเป็น ส.ส.ร.ประเภทละไม่เกิน 2 คน โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อของแต่ละประเภท" ซึ่งมาตรานี้ก็มีการอภิปรายนานถึง 3 วัน และที่ประชุมฯ ลงมติเมื่อ 1 พ.ค.55 เห็นด้วยตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

ตามด้วยการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/7 "กรณีรัฐสภาจะต้องดำเนินการใดตามหมวดนี้ระหว่างปิดสมัยประชุมรัฐสภา ให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ถ้าอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภา และมีกรณีรัฐสภาจะต้องดำเนินการใด ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดตามหมวดนี้ มิให้นับระยะเวลาตั้งแต่วันที่อายุของสภาสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภา แล้วแต่กรณี จนถึงวันประชุมสภาครั้งแรก หลังจากมีพระบรมราชโองการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมเข้าในระยะเวลาที่รัฐสภาต้องดำเนินการ" โดยที่ประชุมฯ ได้ลงมติตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

จากนั้นได้พิจารณา มาตรา 291/8 "สมาชิกภาพของ ส.ส.ร.ตามมาตรา 291/1 (1) และ (2) เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง หรือวันที่รัฐสภามีมติแล้ว แต่กรณีสมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291/1 (1) หรือ (2) สิ้นสุดลง อาทิ เสียชีวิต ลาออก และสิ้นสุดสมาชิกภาพ ตามมาตรา 291/15" ซึ่งที่ประชุมฯ ลงมติเห็นด้วยกับร่างของ กมธ.เสียงข้างมาก

ต่อด้วยมาตรา 291/9 "ให้มีการประชุม ส.ส.ร.ครั้งแรกภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ส.ส.ร." หลังอภิปราย 30 นาที ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมากเช่นกัน

และมาตรา 291/10 "เงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นของ ส.ส.ร." ไม่มีสมาชิกขออภิปราย และที่ประชุมฯ ลงมติเห็นชอบตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

หลังจากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 291/11 "ส.ส.ร.จะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 240 วัน นับแต่วันถัดจากวันประชุม ส.ส.ร.ครั้งแรก" โดยมาตรานี้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ซึ่งท้ายสุดที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากเห็นชอบตามร่างของคณะกรรมาธิการ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้

มาตรา 291/12 "วิธีการพิจารณาและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ การประชุม การลงมติ การแต่งตั้งกรรมาธิการและการดำเนินการของกรรมาธิการ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย" โดยมาตรานี้ไม่มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็นหรือสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติอภิปราย

มาตรา 291/13 "เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วให้นำเสนอต่อประธานรัฐสภา" มีผู้เสนอความเห็นและสงวนคำแปรญัตติไว้มากกว่า 100 คน ทำให้ที่ประชุมต้องอภิปรายต่อเนื่องตลอดทั้งวัน เนื้อหาในการอภิปรายประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ การเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยความถูกต้องของรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้น แทนที่จะให้เป็นอำนาจของประธานรัฐสภา

รวมถึงเสนอให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำเสร็จแล้วกลับมาให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็น ก่อนจะนำไปทำประชามติ และเสนอให้ขยายเวลาการจัดการออกเสียงประชามติของคณะกรรมการการเลือกตั้งจากที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างจากประธานรัฐสภา เป็น 90 วัน เพื่อให้มีเวลาเพียงพอที่จะให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจสาระสำคัญ ซึ่งหลังใช้เวลาอภิปรายต่อเนื่องกว่า 15 ชั่วโมง ที่ประชุมฯ ได้ลงมติเห็นชอบตามที่กรรมาธิการพิจารณา

ส่วนมาตรา 291/14 "เมื่อมีประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย" มาตรา 291/15 "การสิ้นสุดลงของสภาร่างรัฐธรรมนูญ" มาตรา 291/16 "กรณีถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตกไป หรือการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จ เพราะ ส.ส.ร.สิ้นสุดลง ให้ ครม.หรือ ส.ส. หรือ ส.ว. เสนอญัตติต่อรัฐสภาให้มีมติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" และมาตรา 291/17 "ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษาหาข้อมูล และกิจการต่างๆ เกี่ยวกับงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ" ที่ประชุมได้เห็นชอบตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

เข้าสู่การพิจารณวันสุดท้ายในวันที่ 14 พ.ค.55 ซึ่งถือเป็นวันที่ 15 ในการประชุมร่วมรัฐสภา โดยได้มีการพิจารณามาตรา 291/18-291/23 ซึ่งเป็นอนุมาตราที่มีสมาชิกขอสงวนคำแปรญัตติเพิ่มเติม โดยมาตรา 291/18 ส.ว.ที่แปรญัตติไว้ได้เพิ่มข้อความว่า "ผู้ที่เคยเป็น ส.ส.ร.จะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ 5 ปี นับแต่วันสิ้นสุดสมาชิกภาพ" แต่ท้ายสุดแล้วที่ประชุมฯ ได้ลงมติเห็นด้วยที่จะให้คงไว้ตามร่างเดิมที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอ

ที่ประชุมได้มีการลงมติอย่างต่อเนื่องในมาตรา 291/19 มาตรา 291/20 291/21 และ 291/22 เนื่องจากผู้ที่แปรญัตติไม่ประสงค์ที่จะอภิปราย โดยที่ประชุมเสียงข้างมากลงมติไม่เห็นด้วยกับมาตราดังกล่าวตามที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยเสนอ

ทั้งนี้มาตราดังกล่าวมีสาระสำคัญโดยรวม 3 เรื่อง คือ 1.ห้ามบุคคลที่เคยเป็นส.ส.ร.จะเข้ารับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมืองไม่ได้เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีผลประกาศใช้ 2.จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 3.การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ทำในลักษณะให้มีผลย้อนหลังลบล้างความผิดใดๆ ซึ่งองค์กรตุลาการหรือองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายลงมติแล้วว่าบุคคลหรือคณะบุคคลนั้นมีความผิดหรือได้มีการตัดสินคดี

มาตรา 291/23 ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่มี ส.ส.ร.และเมื่อจัดทำธรรมนูญเสร็จแล้วให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

มาตรา 291/24 เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเฉพาะที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน เพื่อเสนอต่อรัฐสภาดำเนินการต่อไป

มาตรา 291/25 ในการออกเสียงประชามติ ถ้าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาบังคับใช้แล้ว ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ได้ แต่ถ้าเสียงข้างมากไม่เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น หรือมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเป็นจำนวนไม่ถึง 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป

มาตรา 291/26 สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้ 1. มีส.ส.ร.เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง 2.ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จตามกำหนด 3.ส.ส.ร.ไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 4.เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ ก.ก.ต.ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว

มาตรา 291/27 ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตามหมวดนี้ตกไป คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามความในหมวดนี้อีกได้

อย่างไรก็ดี ในมาตรา 291/23, 291/24 ,291/25 และ 291/26 ไม่มีการลงมติ เนื่องจากนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้สงวนคำแปรญัตติไม่ติดใจเช่นเดียวกันกับมาตรา 4/1 ที่ไม่มีการอภิปรายและลงมติ

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาต่อในมาตรา 5 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้ดำเนินการตามมาตรา 291/5 ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก

ทั้งนี้ มี ส.ว.ขอแปรญัตติเพิ่มมาตรา 6 แต่กรรมาธิการเสียงข้างมากยืนยันตามร่างเดิม และที่ประชุมก็เห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก ดังนั้นจึงทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวานนี้(14 พ.ค.) ได้เห็นชอบกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในวาระ 2 เรียงตามมาตราแล้ว และต้องเว้นช่วง 15 วัน จึงจะลงมติในวาระ 3 ได้ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 พ.ค. แต่ช่วงเวลาดังกล่าว ตรงกับที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม World Economic Forum ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประธานรัฐสภาจึงยังไม่กำหนดวันที่ชัดเจน โดยจะขอหารือกันอีกครั้ง และปิดประชุมไปในเวลา 16.40 น. รวมระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาทั้งสิ้น 15 วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ