"อภิสิทธิ์"ชี้เป้า GDP ปี 56 โต 4-5% เป็นภาพลวงตา-รบ.ทำงบไม่ตอบโจทย์

ข่าวการเมือง Monday May 21, 2012 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร ชี้การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2556 ของรัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ไม่มีมาตรการรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 58 และความห่วงใยเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณที่ขาดความโปร่งใส

"งบประมาณฉบับนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ที่กระผมตั้งขึ้น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ในด้านเศรษฐกิจหากดูแค่ผิวเผินเหมือนว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีพอควร อย่างกรณีที่นายกรัฐมนตรีแถลงว่าการจัดทำงบประมาณบนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 5.5-6.5% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงพอสมควร จนอาจทำให้วางใจกันว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว เพราะประมาณการเศรษฐกิจจะขยายตัว 5.5-6.5% เกิดจากแรงขับเคลื่อนด้านอุปสงค์ การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อฟื้นฟูทรัพย์สินที่เสียหายภายหลังสถานการณ์อุทกภัยรุนแรง

"อัตราการขยายตัวที่ 5.5-6.5% แท้ที่จริงแล้วไม่ได้สะท้อนคุณภาพชีวิตหริอความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น แต่เป็นภาวะชั่วคราวในแง่ของการฟื้นฟูจากความเสียหายที่ประสบเมื่อปีที่แล้ว..เมื่อดูปีต่อไปในเอกสารที่ระบุว่าจีดีพีปี 2556 โต 4-5% ก็เป็นเสมือนภาพลวงตา" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนที่ระบุว่าปีนี้ขาดดุล 3 แสนล้านบาท และเป็นการขาดดุลลดลงจากปีที่แล้ว ดูเหมือนว่าเราสามารถบริหารจัดการให้เข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วรัฐบาลที่แล้วตั้งเป้าว่าจะต้องจัดทำงบประมาณแบบสมดุลภายใน 5 ปี การที่ขาดดุลงบประมาณปีนี้ลดลงก็เหมือนเป็นสัญญาณที่ดี แต่การขาดงบประมาณปีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการก่อหนี้สาธารณะ สิ่งที่สำคัญคือเรามีเงินกู้ที่เกิดจากรัฐบาลออกกฎหมายหลังน้ำท่วม และรัฐบาลจะต้องกู้เงินอีก ภาวะการก่อหนี้หรือการขาดดุลงบประมาณไม่ได้ลดลงจาก 2 ปี 6 เดือน ของรัฐบาลชุดที่แล้ว ก่อหนี้น้อยกว่าที่รัฐบาลชุดนี้ทำในปีเดียว โดยมีการก่อหนี้กว่า 1 ล้านล้านบาทในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี

"ขอแสดงความห่วงใยในการจัดดำเนินนโยบายงบประมาณว่าจะทำให้เรากลับสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพและการเติบโตที่ยั่งยืน ยังไม่ได้รับการตอบสนองในนโยบายด้านการเงินการคลัง โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่เป็นที่น่าวางใจ ดังนั้นการใช้จ่ายต้องเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง สร้างการเติบโต สร้างความเป็นธรรม และเป็นหลักประกันที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีทั้งแพงและทั้งถูกทั้งแผ่นดิน เพราะวันที่นายกรัฐมนตรีไปที่จังหวัดระยองไปดูปัญหามาบตาพุด สิ่งที่ตนเองสนใจคือ เมื่อนายกรัฐมนตรีเสร็จภารกิจที่มาบตาพุดแล้วไปสำรวจตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน และภายใต้คำพูดที่ว่าแพงทั้งแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีบอกว่ามีของที่ไม่แพง เพราะเงาะ 4 กิโลกรัม ราคา 100 บาท และยังมีแนวโน้มจะลดลงไปอีก ซึ่งมีเกษตรกรออกมาประท้วงหลายจังหวัด

"ที่ไม่แพงทั้งแผ่นดิน ที่ถูกทั้งแผ่นดินตอนนี้คือพืชผลทางการเกษตร" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจเติบโตต้องจัดเงินไปช่วยพี่น้องเกษตรกร งบประมาณที่จัดไปช่วยเหลือเกษตรกร วันนี้ปรากฎในงบที่จัดสรรให้ ธ.ก.ส.จำนวน 69,000 ล้านบาท แต่เงินที่จัดให้ ธ.ก.ส.ขณะนี้เป็นการจัดงบประมาณเพื่อแก้ปัญหา ธ.ก.ส.ในนโยบายจำนำพืชผล ส่วนที่รัฐบาลประกาศนโยบายจำนำข้าว 15,000 บาท ยังไม่ปรากฎงบประมาณ แต่ให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการจ่ายเงินไปก่อนเกือบ 3 แสนล้านบาท สุดท้ายไม่ช้าไม่นาน 3 แสนล้านบาทที่ออกไปและอาจจะต้องขาดทุนถึง 1 แสนกว่าล้านบาทในระยะเวลาเพียงปีกเดียว และถ้าเดินหน้าโครงการรับจำนำต่อไปและเป็นภาระต่องบประมาณปีละหลักแสนล้านอะไรจะเกิดขึ้นกับฐานะการเงินการคลัง

"ผมจะไม่ว่าเลยถ้าทำให้เกษตรกรมีฐานะที่ดีขึ้นจริง วันนี้อยากจะทราบว่าเกษตรกรกี่รายที่ไปจำนำข้าวและได้ 15,000 บาท ผมเดินทางเยอะในช่วงเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ไม่มีหรอกครับ โครงการจำนำไม่เพียงล้มเหลวในอดีต มีปัญหาว่าเกษตรกรไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เกษตรกรที่ปลูกข้าวเองหรือเหลือข้าวอยู่น้อยไม่ได้ประโยชน์ มีปัญหาเรื่องน้ำหนัก ความชื้น และทุจริตเกิดขึ้น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า รัฐบาลใช้เงินภาษีไปเพื่อช่วยคนกลุ่มหนึ่งให้มีรถยนต์คันแรกหรือการเพิ่มรายได้ ตนเองเห็นด้วยกับการเพิ่มค่าแรง แต่จากการประกาศนโยบายของรัฐบาลมีปัญหา 2 ด้าน ด้านหนึ่งไม่สามารถทำตามที่ประกาศได้ว่าจะเพิ่มค่าแรง 300 บาททั่วประเทศทันที เพราะค่าแรง 300 บาทใช้ 7 จังหวัด อีกด้านคือการเตรียมพร้อมของภาคธุรกิจที่จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับค่าแรง ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบตรงจุด ถ้าเดินหน้าแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้ฐานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่หรือเศรษฐกิจดีขึ้น

ส่วนการปรับตัวของธุรกิจมาตรการที่รัฐบาลนี้ใช้คือลดภาษีเงินได้นิติบุคคล คนที่ได้ประโยชน์หลักๆจากมาตรการนี้คือธุรกิจขนาดใหญ่ สาขาหลักที่ได้ประโยชน์เช่นพลังงาน อย่าง ปตท.ได้ประโยชน์ บางทีตนเองก็อดน้อยใจแทนพี่น้องประชาชนไม่ได้ว่า ถ้ารัฐบาลห่วงใยความเป็นอยู่ของประชาชนเท่ากับที่ใส่ใจฐานะของ ปตท. วันนี้พี่น้องส่วนใหญ่จะมีความเป็นอยู่ดีกว่านี้ โทรคมนาคมก็ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ระบบธนาคาร ฯลฯ ธุรกิจเหล่านี้เมื่อลดภาษีแล้วขาดเงินมาพัฒนา 75,000 ล้านบาท แต่ถามว่าเขาจะมีแรงจูงใจขยายธุรกิจหรือไม่ มีผลน้อยมาก แต่คนที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงจริงๆ เช่น เอสเอ็มอี แทบไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้เลย และมาตรการที่อนุมัติไปก็ไม่ได้ช่วยเขาเลย ถ้าเขาต้องเสียเพิ่ม 100 บาท รัฐบาลช่วยเขาไม่ถึง 20 บาท และสุดท้ายก็มีการย้ายฐานไปที่อื่น

"นี่ไม่ใช่คำตอบของความเป็นอยู่ทีดีของประชาชน และเศรษฐกิจ อยากให้รัฐบาลทบทวนว่ามาตรการประชานิยม เอาภาษีจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่คำตอบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ