ส.ว.จี้รัฐเร่งจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว-แก้ปัญหาภัยแล้ง-ขาดแคลนแรงงาน

ข่าวการเมือง Tuesday October 30, 2012 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า การประชุมวุฒิสภาที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน ในช่วงที่เปิดให้สมาชิกหารือ นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.สรรหา ได้เรียกร้องให้รัฐบาลติดตามและเร่งรัดการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรด้วย เนื่องจากมีประชาชนมาร้องทุกข์ว่าได้จำนำข้าวเปลือกให้กับรัฐบาลผ่านโรงสีแล้ว และได้รับใบประทวนมาเพื่อรับเงิน แต่จนถึงขณะนี้เกษตรกรยังไม่ได้รับเงิน

ขณะที่นายประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง เพราะสถานการณ์ในปีนี้หนักกว่าหลายๆปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่แหล่งน้ำแห้งขอด ไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และการทำเกษตรกรรม พร้อมเสนอแนะรัฐบาลส่งตัวแทนลงพื้นที่รับฟังแนวทางแก้ปัญหาจากชาวบ้านในพื้นที่ภัยแล้งด้วย เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาว

ส่วนนายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว. ขอนแก่น ตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาและมีการจัดทำแผนแม่บทที่พัฒนาคนเพื่อการรองการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเชียนในปี 2558 หรือไม่ หลังนาคารโลกระบุว่าไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนถึง 3 เท่า และปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมของไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานกว่า 100,000 คน ขณะเดียวกันมีการใช้แรงงานต่างด้าวทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายกว่า 1.3 ล้านคน

โดยประเด็นนี้ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ได้ชี้แจงว่า รัฐบาลพยายามปรับความสมดุลของแรงงานไทยให้เหมาะสมต่อภาคธุรกิจในประเทศและการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งไทยได้รับโอกาสจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่รองรับแรงงานไทยไปทำงานจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีแรงงานต่างด้าวมาทำงานในไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการวางระบบดูแลแรงงานอย่างเหมาะสม เพื่อตรวจสอบว่าแรงงานที่ไปต่างประเทศไป ทำงานด้านใด และได้รับรายได้เหมาะสมหรือไม่ เพื่อให้แรงงานเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ขณะเดียวกันมีกลไกเชื่อมโยง 77 จังหวัดทั่วประเทศในการเก็บข้อมูลแรงงานทั่วประเทศ เพื่อดูว่าแรงงานที่ขาดแคลนเป็นแรงงานส่วนใด จะได้จัดสรรให้อย่างเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันพบว่า 2 อาชีพ ที่ขาดแคลนอย่างหนัก คือ การก่อสร้าง และประมง ทั้งนี้ยอมรับว่าช่วงประสบปัญหาอุทกภัยต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 55 มีคนว่างงานจำนวนมาก แต่เมื่อรัฐบาลได้แก้ปัญหาด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ ก็พบว่าตัวเลขคนว่างงานลดลง ขณะที่นายจ้างคนไทยหากจะรับแรงงานต่างด้าวมาทำงานต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฏหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ