In Focusนับถอยหลังศึกชิงทำเนียบขาว ก่อนปิดฉากการชิงชัยที่สูสีจนนาทีสุดท้าย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 7, 2012 09:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากที่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและกระบวนการเฟ้นหาตัวแทนของสองพรรคการเมืองใหญ่เพื่อลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ ได้เริ่มเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ต้นปี 2555 ในที่สุดก็เหลือเวลาอีกไม่กี่อึดใจก่อนที่จะได้ทราบผลการเลือกตั้งผู้นำของประเทศมหาอำนาจอย่างเป็นทางการ ที่ไม่เพียงแต่ชาวอเมริกันเท่านั้นที่ให้ความสนใจกับเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วโลกด้วย

ในช่วงเวลากว่า 10 เดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเป็นผู้แทนจากพรรคเดโมแครตที่จะชิงชัยเพื่อครองตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 2 และนายมิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ต่างได้รับคะแนนนิยมที่คู่คี่สูสีกันแบบผลัดกันรุกผลัดกันรับมาตลอด ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ย่ำแย่ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาหรือในช่วงการดำรงตำแหน่งของปธน.โอบามานั้น เรียกได้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐยังกระท่อนกระแท่น ไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นจากหุบเหวอย่างชัดเจนและสถานการณ์ในตลาดแรงงานก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นจนเรียกได้ว่าน่าพอใจ ประเด็นเศรษฐกิจจีงเป็นประเด็นสำคัญที่นายรอมนีย์นำมาเป็นเป้าโจมตีการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของปธน.โอบามามาโดยตลอด

ประเด็นเศรษฐกิจถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับชาวอเมริกันในขณะนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่โดยตรง โดยผลสำรวจระบุว่าชาวอเมริกันผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวนมากถึง 80% ระบุว่า เศรษฐกิจมีความสำคัญต่อการลงคะแนนเสียงของพวกเขา ขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า เศรษฐกิจเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด และการจ้างงานก็เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ พร้อมกับกล่าวเสริมว่าปัญหาเศรษฐกิจไม่เพียงแต่สร้างความกังวลให้กับผู้ที่ว่างงานเท่านั้น แต่แม้กระทั่งผู้ที่มีงานทำก็วิตกว่ามีความเป็นไปได้ที่ตนเองอาจจะต้องตกงานในเร็ววันนี้ ซึ่งตอกย้ำถึงวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตความเชื่อมั่นที่ชาวอเมริกันกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจริงหรือไม่ ขณะที่ชาวอเมริกันไม่ได้รู้สึกว่าฐานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาดีขึ้นกว่าเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้คิดว่าเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าเดิม นั่นจึงทำให้การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้เป็นไปอย่างคู่คี่สูสี เนื่องจากประชาชนจำนวนมากที่มองว่าปธน.โอบามาบริหารเศรษฐกิจได้ย่ำแย่นั้น ก็ไม่ได้มีความมั่นใจเช่นกันว่านายรอมนีย์จะจัดการเศรษฐกิจของประเทศได้ดีกว่า นอกจากนี้ ยังมีชาวอเมริกันอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันมีต้นตอมาจากสมัยการบริหารงานของอดีตปธน.จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่สังกัดพรรครีพับลิกันนั่นเอง

ผลงานช่วงโค้งสุดท้ายการหาเสียงเลือกตั้ง

เหตุการณ์สำคัญในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการหาเสียงเลือกตั้งคงจะเป็นอื่นๆไม่ได้นอกจากการโต้วาที หรือการดีเบต เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้แสดงไหวพริบปฏิภาณในด้านต่างๆให้ชาวอเมริกันเห็นเพื่อตัดสินใจว่าผู้สมัครคนใดมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำประเทศได้ ก่อนที่จะต้องตัดสินใจหย่อนบัตรเลือกตั้ง การดีเบตถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองของสหรัฐที่จัดสืบเนื่องต่อกันมายาวนาน โดยการดีเบตครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐมีขึ้นในปีค.ศ.1960 หรือพ.ศ.2503 ระหว่างประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน จากพรรครีพับลิกัน และวุฒิสมาชิกจอห์น เอฟ เคนเนดี้ จากพรรคเดโมแครต

ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดนี้ การดีเบตครั้งแรกจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ รัฐโคโรลาโด เมื่อวันที่ 3 ต.ค. โดยเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายภายในประเทศ ในการประชันวิสัยทัศน์ครั้งปฐมฤกษ์นี้ นายรอมนีย์นับว่าออกตัวแรง ด้วยวาทะที่ร้อนแรงและท่าทีที่ขึงขัง ถึงขนาดทำให้โอบามาเสียศูนย์ไปได้อย่างผิดคาด สวนทางกับผลสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้านั้นของ Pew Research Center ที่ระบุว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งชาวสหรัฐส่วนใหญ่คาดว่า ปธน.โอบามา จะทำได้ดีกว่านายรอมนีย์ ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ผลสำรวจล่าสุดของ Pew ซึ่งจัดทำในช่วงวันที่ 27-30 ก.ย. พบว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวนมากขึ้นระบุว่าปธน.โอบามาจะทำได้ดีกว่านายรอมนีย์ในการดีเบตครั้งนี้

เมื่อการดีเบตครั้งแรกสิ้นสุดลง ผลสำรวจของซีเอ็นเอ็น/โออาร์ซีระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 67% มองว่า นายรอมนีย์ชนะการโต้วาทีในวันนี้ เทียบกับ 25% ที่ให้ปธน.โอบามาชนะ ดังนั้น ภาระหนักจึงตกอยู่กับทีมงานหาเสียงเลือกตั้งของปธน.โอบามา ที่จะต้องแก้เกมเพื่อพลิกกลับมาเป็นต่อในการดีเบตนัดหน้า

การดีเบตครั้งที่ 2 เป็นบรรยากาศของการประชุมแบบศาลากลางของเมือง หรือที่เรียกว่า Town Hall Meeting ที่มหาวิทยาลัยฮอฟสตราในเมืองเฮมสเตด รัฐนิวยอร์ก ในวันที่ 16 ต.ค. ประเด็นสำคัญในการโต้วาทีก็ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจและปัญหาการจ้างงาน ซึ่งนายรอมนีย์พยายามโจมตีความล้มเหลวของปธน.โอบามาในการบริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่การดีเบตหนนี้ ปธน.โอมาบานับว่าได้ทำการบ้านมาเป็นอย่างดีหลังจากที่พลาดท่าอย่างหมดรูปในดีเบตรอบแรก โดยปธน.โอบามามาในมาดที่ดุดันและมีความมั่นใจเต็มเปี่ยม

ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ชมศึกการอภิปรายของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ และนายมิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันโดยซีเอ็นเอ็น-โออาร์ซี อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ ผู้ชมที่ตอบแบบสอบถาม 46% มองว่า ปธน.โอบามาสามารถอภิปรายได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับนายรอมนีย์ที่ได้รับคะแนนสนับสนุนไป 39% ส่วนโพลล์ของซีบีเอสให้โอบามานำรอมนีย์ด้วยคะแนน 37-30%

ข้อมูลดังกล่าวนับว่า ได้รับการจับตามากขึ้น หลังจากที่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่มองว่า ปธน.โอบามาแพ้นายรอมนีย์ในศึกดีเบตรอบแรกที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยนายรอมนีย์ได้รับคะแนนนิยมสูงขึ้นจากโพลล์ระดับประเทศและระดับรัฐ

ส่วนการดีเบตครั้งสุดท้ายมีขึ้นเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยลินน์ ในเมืองโบคา ราตัน รัฐฟลอริด้า โดยเป็นการอภิปรายที่เน้นหนักไปในด้านนโยบายต่างประเทศ การดีเบตครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญ หลังจากที่ทั้งโอบามาและรอมนีย์ต่างก็ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะในการโต้วาที 2 ครั้งก่อนหน้านี้ เพราะถือว่าต่างก็เสมอกันคนละ 1 แต้ม และทั้งสองต่างก็มีคะแนนนิยมสูสีกันมากในช่วงใกล้วันเลือกตั้งในวันที่ 6 พ.ย.

นโยบายการต่างประเทศดูจะไม่ใช่สิ่งที่นายรอมนีย์ถนัดนัก ดังนั้น เขาจึงพยายามโยงเข้าสู่ประเด็นด้านเศรษฐกิจ พร้อมกับโจมตีปธน.โอบามาว่าดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เหยาะแหยะมากเกินไปและประเมินภัยคุกคามจากกลุ่มหัวรุนแรงต่ำเกินไป โดยระบุถึงเหตุการณ์โจมตีสถานกงสุลสหรัฐในเมืองเบงกาซีของลิเบีย อันนำไปสู่การเสียชีวิตของเอกอัครราชทูต เจ.คริสโตเฟอร์ สตีเวนส์และเจ้าหน้าที่อเมริกันอีกหลายรายเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา แต่ปธน.โอบามาก็ใช้ประสบการณ์ความเหนือกว่าในการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาต้อนรอมนีย์ นอกจากนี้ ปธน.โอบามายังมีภาษีดีกว่าจากผลงานการถอนกำลังทหารจากอิรักและการสังหารนายโอซามา บิน ลาเดน พร้อมเยาะเย้ยนายรอมนีย์ว่าไม่มีความรู้เรื่องกองทัพและย้ำว่าการดำเนินนโยบายของกองทัพ ไม่ใช่การมานั่งนับจำนวนเรือเหมือนการเล่นเกมยุทธการเรือรบของเด็กๆ แต่เป็นเรื่องของศักยภาพ

ผลการสำรวจคะแนนนิยมของประชาชนของโพลล์ทุกสำนักหลังการโต้วาที ครั้งนี้ พบว่า ปธน.โอบามาเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะเหนือนายรอมนีย์ โดยโพลล์ของ CBS ให้ปธน.โอบามาชนะด้วยคะแนน 53% ต่อ 23%, โพลล์ของ PPP สำหรับ ผู้ลงคะแนนในรัฐที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครรายใด (swing states) ให้ปธน.โอบามาชนะด้วยคะแนน 53% ต่อ 42% ขณะที่โพลล์ของ CNN ให้ปธน. โอบามาชนะด้วยคะแนน 48% ต่อ 40%

สมรภูมิสำคัญที่แท้จริง

แม้ว่าการโต้วาทีแสดงวิสัยทัศน์จะนับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญและเป็นสีสันทางการเมืองในการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่ไม่มีสิ่งใดมารับประกันได้ว่าผู้ที่ชนะการโต้วาที จะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐด้วย เนื่องจากพฤติกรรมของชาวอเมริกันที่มักจะเหนียวแน่นกับพรรคการเมืองที่พวกเขาให้การสนับสนุน ผลการโต้วาทีจึงอาจจะไม่มีอิทธิพลมากนักต่อต่อชาวอเมริกันที่มีพรรคการเมืองในดวงใจอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนสำคัญน่าจะอยู่ที่คะแนนเสียงจากรัฐที่ถือได้ว่าเป็นสมรภูมิในการหาเสียงที่เรียกกันว่า battleground states หรือ swing states เนื่องจากผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในรัฐดังกล่าวยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะเทคะแนนเสียงให้พรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจน

สำหรับรัฐสมรภูมิที่จะมีบทบาทสำคัญต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่า ประกอบไปด้วยรัฐฟลอริดา, โอไฮโอ, นอร์ธ แคโรไลนา, เวอร์จิเนีย, วิสคอนซิน, โคโลราโด, ไอโอวา, เนวาดา และนิวแฮมป์เชียร์ โดยทั้งสองพรรคต่างก็ทุ่มงบประมาณขนานใหญ่ในสื่อทุกรูปแบบเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงสนับสนุนจากรัฐดังกล่าว

ในการเลือกตั้งของสหรัฐนั้น ชาวอเมริกันไม่ได้ลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมผ่าน “คณะผู้เลือกตั้ง" หรือ electoral college เพื่อให้ไปทำหน้าที่ออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกต่อหนึ่ง

คะแนนเลือกตั้งจะมี 2 แบบ เรียกว่า popular vote กับ electoral vote การที่ประชาชนออกจากบ้านไปเลือกคณะผู้เลือกตั้ง ถือเป็น popular vote จากนั้น คณะผู้เลือกตั้งไปเลือกประธานาธิบดีอีกทอดหนึ่งเรียกว่า electoral vote

ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนน electoral vote เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 เสียง ของจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 538 เสียง ดังนั้น การช่วงชิงคะแนนเสียงของผู้สมัครทั้งสอง ก็หมายถึงความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่ง electoral vote นั่นเอง

พายุธรรมชาติกระหน่ำพายุการเมือง

นอกเหนือจากการแข่งขันที่สูสีชนิดที่หายใจรดต้นคอกันจนกระทั่งถึงช่วงโค้งสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนั้น ดูเหมือนธรรมชาติจะไม่เป็นใจให้กับการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้เท่าใดนัก เนื่องจากมีอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 พ.ย. นั่นก็คือพายุเฮอริเคนแซนดี้ ที่มีความรุนแรงถึงขนาดได้ฉายาว่า “แฟรงเก้นสตอร์ม" และยังพัดกระหน่ำจนแผนการหาเสียงของทั้งปธน.โอบามาและนายรอมนีย์ต้องเสียรูปกระบวนไปไม่น้อย

เฮอริเคนแซนดี้มีทิศทางการเคลื่อนตัวสู่พื้นที่ชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดของสหรัฐ และยังเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญอย่างนิวยอร์ก จึงทำให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายค่อนข้างมาก โดยตลาดหุ้นนิวยอร์กต้องประกาศปิดการเป็นเวลา 2 วัน จากพิษสงของแซนดี้ และต้องมีการยกเลิกเที่ยวบินหลายพันเที่ยว นอกจากนี้ เฮอริเคนแซนดี้ยังส่งผลให้ทางการสหรัฐต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายรัฐ ซึ่งรวมถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

แต่ท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ โดยทั้งปธน.โอบามาและนายรอมนีย์ต่างก็ประกาศยกเลิกการหาเสียงในรัฐที่มีการวางแผนไว้ และหันไปให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุแซนดี้แทน ซึ่งอาจจะเป็นการซื้อใจชาวอเมริกันในยามยากได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการพิสูจน์ฝีมือของปธน.โอบามาในการรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติและช่วยเหลือประชาชนที่กำลังยากลำบาก ซึ่งเขาก็มีสิทธิโกยคะแนนได้อีกเช่นกัน ถ้าทำได้ดีพอจนเป็นที่พอใจของชาวอเมริกัน

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้คงต้องลุ้นกันจนนาทีสุดท้ายก่อนที่จะทราบผลอย่างเป็นทางการ เพราะคะแนนนิยมของปธน.โอบามาและนายรอมนีย์นับว่าสูสีเบียดกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาตั้งแต่ต้นจนโค้งสุดท้าย และวันสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่กล้านิ่งนอนใจกับคะแนนนิยมที่มีอยู่ในมือ โดยมีการเดินหน้าหาเสียงต่ออย่างเข้มข้นจนหยดสุดท้ายหลังพายุเฮอริเคนแซนดี้ผ่านพ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐที่เป็นสมรภูมิสำคัญ และในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ทั่วโลกก็จะได้รู้กันว่าอนาคตของประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐในอีก 4 ปีข้างหน้า จะอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของปธน.บารัค โอบามาต่ออีกสมัย หรือจะเป็นนายมิตต์ รอมนีย์ ที่จะได้สิทธินั้นในการก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของชาวอเมริกันในวันนี้!!!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ