เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.:เอแบคโพลล์ ชี้"พงศพัศ"มีโอกาสชนะเลือกตั้งผู้ว่า กทม.หลังทุกกลุ่มหนุน

ข่าวการเมือง Saturday January 26, 2013 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอแบคโพลล์ ระบุ พ.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย มีโอกาสชนะเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. จากผลสำรวจเกือบทุกกลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งในกทม.จะตั้งใจเลือกมากกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สมัครคนอื่น

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เลือกตั้งผู้ว่า กทม. ใครเลือกใคร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,766 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการและวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 22-25 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา

พบว่า กลุ่มที่ 1 เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า ชายร้อยละ 42.9 และหญิงร้อยละ 40.8 ตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ ชายร้อยละ 36.0 และหญิงร้อยละ 39.2 ตั้งใจจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์

กลุ่มที่ 2 เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มคนที่ตั้งใจเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ มากที่สุดอยู่ในช่วงระหว่างอายุ 40 — 49 ปีคือร้อยละ 45.2 รองลงมาคือ กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ได้ร้อยละ 43.0 และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปมีอยู่ร้อยละ 42.4 ที่ตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปมีอยู่ร้อยละ 39.9 ที่ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ตามด้วยกลุ่มอายุ 20 — 29 ปี และกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มีอยู่ร้อยละ 38.6 และร้อยละ 38.4 ตามลำดับที่ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร

ที่น่าสนใจคือ ใครเลือกใครกลุ่มที่ 3 เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า กลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 44.0 เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ ทิ้งห่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในขณะที่ กลุ่มคนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีร้อยละ 41.5 ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ทิ้งห่าง พล.ต.อ.พงศพัศ ที่ได้ร้อยละ 36.7 นอกจากนี้ จุดน่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ กลุ่มที่สูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 40.7 ตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ แต่ประชาชนที่ถูกศึกษาครั้งนี้ในกลุ่มการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมากถึงร้อยละ 22.2 ตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ และร้อยละ 25.9 ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์

กลุ่มที่ 4 เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า กลุ่มคนว่างงาน ไม่มีงานทำส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.0 รองลงมาคือ กลุ่มแม่บ้าน พ่อบ้าน เกษียณอายุร้อยละ 49.0 กลุ่มรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 47.3 กลุ่มข้าราชการรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 41.8 และกลุ่มค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 40.7 ตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์จะได้ความนิยมสูงสุดในกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนร้อยละ 41.6 และกลุ่มนักศึกษาร้อยละ 42.3

กลุ่มที่ 5 เมื่อจำแนกตามระดับรายได้ พบประเด็นความชัดเจนว่า กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ในขณะที่กลุ่มคนมีรายได้สูงตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยพบว่า กลุ่มคนมีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 44.4 กลุ่มคนที่มีรายได้ระหว่าง 5,001 — 10,000 บาทร้อยละ 40.7 และกลุ่มคนรายได้ระหว่าง 10,001 — 15,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 45.5 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ กลุ่มคนรายได้ระหว่าง 15,001 — 20,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 40.4 และกลุ่มรายได้มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 41.0 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์

นายนพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณา คือ กลุ่มที่ 6 เมื่อจำแนกตามพรรคการเมืองที่เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า ถ้าเงื่อนไขของการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เหมือนการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งในแง่ จำนวนผู้ใช้สิทธิไม่น้อยกว่าเดิมคือไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และคนที่เคยเลือก ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเลือก ม.ร.ว. สุขุมพันธ์สูงถึงร้อยละ 77.4 ในผลสำรวจครั้งนี้ จะส่งผลให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ จะชนะการเลือกตั้งเป็น ผู้ว่า กทม. ได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์เคยได้คะแนนนิยมเลือก ส.ส. ในพื้นที่กรุงเทพมหานครสูงถึง 1.3 ล้านเสียงและอาจจะได้ประมาณ 1 ล้านคะแนนเสียงในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ดังนั้น ยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นชักชวนคนกรุงเทพฯ เกาะฐานเสียง ส.ส. เอาไว้ให้มั่นว่า “คนเคยเลือก ปชป. เลือกเบอร์ 16" หรือ “รัก ปชป. เลือกเบอร์ 16"

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตคือ กลุ่มคนที่เคยเลือก ส.ส. กรุงเทพมหานครของพรรคประชาธิปัตย์กำลังกระจายตัวออกไปเลือก พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ และเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ จำนวนมาก ในขณะที่ คนที่เคยเลือก ส.ส. กรุงเทพฯ ของพรรคเพื่อไทยครั้งก่อนก็กระจายตัวออกไปเลือก ผู้สมัคร ผู้ว่า กทม. คนอื่นพรรคอื่นแต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า

“นอกจากนี้ โอกาสที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จะชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. มีมากเช่นกัน เพราะประชาชนที่เคยเลือก ส.ส. พรรคเพื่อไทยในกรุงเทพมหานครครั้งก่อนมีสูงถึง 1.2 ล้านคน และคนที่เคยเลือก ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ ครั้งนี้สูงถึงร้อยละ 82.4 หรือเฉียด 1 ล้านเสียงเช่นกัน และประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมารวมตัวกับกลุ่มประชาชนที่ไม่ระบุพรรคที่เคยเลือกมีถึงร้อยละ 32.8 ที่จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ ดังนั้น ยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่น่าพิจารณาคือ ชักชวนคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทยเลือก พงศพัศ แบบเกาะติดและคนไม่เลือก ส.ส. ครั้งก่อนให้เลือกเบอร์ 9

นอกจากนี้ ผู้สมัครอิสระที่น่าสนใจคือ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส เพราะจะได้เสียงของคนที่ไม่เลือกพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 56.5 ดังนั้นยุทธศาสตร์ที่น่าพิจารณาคือ “เบื่อพรรคการเมืองใหญ่ เลือก เสรี" ในขณะที่ ผู้สมัครท่านอื่นๆ คงต้องพยายามทำให้ชาวบ้านเห็นว่านโยบายของผู้สมัครมีความเป็นไปจริงให้กับคน กทม. ได้เช่นกัน" ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ