In Focusนับถอยหลังเลือกตั้งอิตาลี นัยสำคัญต่อแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 20, 2013 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ความไม่แน่นอนทางการเมืองของอิตาลีดูเหมือนจะมีความเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนหลังจากที่นายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติของอิตาลี ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันศุกร์ที่ 21 ธ.ค.2555 ก่อนที่ประธานาธิบดีจอร์โจ นาโปลิตาโน จะประกาศยุบสภาในวันถัดมาเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 และ 25 ก.พ.2556 หรือในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

การลาออกของนายมอนติ วัย 69 ปีมีขึ้น หลังจากที่สภาล่างของอิตาลีได้อนุมัติงบประมาณปี 2556 ซึ่งเป็นไปตามความตั้งใจของเขาที่ได้เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะลาออกจากตำแหน่งเมื่อร่างงบประมาณของเขาผ่านการรับรองจากรัฐสภา และเป็นการก้าวลงจากตำแหน่งก่อนที่จะครบวาระในเดือนเม.ย.2556

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายมอนติยื่นหนังสือลาออกก็คือ การที่พรรค People of Freedom (PdL) ของนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัยของอิตาลี ซึ่งครองเสียงมากที่สุดในรัฐสภา ได้ถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาลของนายมอนติที่มาจากการแต่งตั้ง พร้อมกับประกาศว่าจะลงสู้ศึกเลือกตั้งเพื่อช่วงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังจากที่นายแบร์ลุสโคนีถูกกดดันให้ลาออกเมื่อปี 2554 ด้วยเรื่องอื้อฉาวทางเพศ

ประเมินผลงาน “มอนติ"

เมื่อ 15 เดือนก่อน อิตาลีอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของวิกฤตหนี้ยูโรโซน เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรของอิตาลีพุ่งแตะระดับสูงเกินกว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนว่าอิตาลีอาจจะต้องผิดนัดชำระหนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่มีกระแสคาดการณ์เป็นวงกว้างว่าคงหนีไม่พ้นที่อิตาลีจะต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งอาจเป็นวงเงินที่สูงเกินกว่าที่อียูจะสามารถจัดสรรให้ได้ โดยเศรษฐกิจของอิตาลีเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะล่มสลายและอาจะส่งผลกระทบต่อสกุลเงินยูโรด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจของอิตาลีมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภูมิภาค

นายมาริโอ มอนติ อดีตสมาชิกกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งได้ลาออกออกจากตำแหน่งหลังจากวุฒิสภาอิตาลีได้ลงมติรับรองมาตรการรัดเข็มขัดตามข้อกำหนดของอียู ตามที่เขาได้ตั้งเงื่อนไขไว้

นายมอนติก้าวเข้ามาบริหารประเทศพร้อมกับภาระหนักอึ้งในการทำให้อิตาลีรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหาใหญ่ของอิตาลีในช่วงปลายปี 2554 ก็คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีพุ่งเกินระดับ 7% ซึ่งเป็นระดับที่อิตาลีจะไม่สามารถชำระคืนได้ในระยะยาว โดยอัตราผลตอบแทนดังกล่าวนับเป็นมาตรวัดสำคัญว่าอิตาลีจะต้องชำระคืนเงินที่กู้ยืมมาจำนวนมากเพียงใด นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของนายมอนติในการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้อยู่ที่การผลักดันแผนปฏิรูปเชิงโครงสร้างในด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงมาตรการรัดเข็มขัด แต่อยู่ที่การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนและตลาดทั่วโลกที่มีต่ออิตาลี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตรการรัดเข็มขัดที่นายมอนติผลักดัน ได้ช่วยให้อิตาลีรอดพ้นจากความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับการล่มสลายทางเศรษฐกิจ แต่กลับสร้างความทุกข์ทรมานอย่างมากให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งนำมาสู่คะแนนนิยมในตัวนายมอนติที่ตกต่ำลงอย่างฮวบฮาบ หลังจากที่เคยได้รับคะแนนนิยมล้นหลามถึง 80% ในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ

การเมืองไม่แน่นอน เศรษฐกิจยังย่ำแย่

แม้ว่ารัฐบาลของนายมอนติจะใช้มาตรการหลายมาตรการเพื่อหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมก็ยังคงอยู่ในภาวะย่ำแย่ ดังนั้น ประเด็นสำคัญในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็คงหนีไม่พ้นแนวทางในการช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศผงาดขึ้นมาจากภาวะถดถอย เพื่อหวังดึงคะแนนเสียงจากประชาชนชาวอิตาเลียนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ธนาคารกลางอิตาลีระบุว่าเศรษฐกิจของอิตาลี ที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของยูโรโซน จะยังคงอยู่ในภาวะถดถอยในปี 2556 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะลดลง 1% และอัตราว่างงานจะแตะระดับ 12% ในปี 2557 นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มก่อตัวขึ้นในปี 2551 จะยังคงดำเนินต่อไป และผลกระทบอาจจะยืดเยื้อไปจนถึงปี 2560

ทางด้านสมาคมธุรกิจ Rete Impresa Italia รายงานว่า ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของอิตาลีส่งผลให้บริษัทอย่างน้อย 100,000 รายต้องปิดกิจการในระหว่างปี 2554-2555 โดยที่ไม่มีการเปิดบริษัทใหม่เพิ่มเติม สมาคมระบุว่ารายได้เฉลี่ยในประเทศในปีนี้จะอยู่ในระดับต่ำสุดนับแต่ปี 2539 โดยหลังจากที่รายได้เฉลี่ยต่อคนของปรับตัวลง 4.8% ในปี 2555 นั้น ก็คาดว่ารายได้จะหดตัวลงอีกแตะระดับ 16,955 ยูโร (22,572 ดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2556 ขณะที่ครั้งล่าสุดที่รายได้ประชากรต่อคนของอิตาลีต่ำกว่า 17,000 ยูโรก็คือในปี 2539 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน

สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลีเปิดเผยรายงานเมื่อเดือนม.ค.ว่ากว่า 5% ของครัวเรือนอิตาลี หรือคิดเป็นประชากร 3.4 ล้านคนต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างยากไร้ในปี 2554 ขณะที่ 11% หรือ 8.2 ล้านคนมีฐานะค่อนข้างยากจน

3 ผู้สมัครสำคัญที่ร่วมชิงชัย

นักวิเคราะห์มองว่าในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของอิตาลีในครั้งนี้มีผู้สมัครที่สำคัญ 3 คนที่มีคะแนนนิยม 3 อันดับแรกในการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง นั่นก็คือนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี, นายมาริโอ มอนติ และนายปิแอร์ ลุยจิ เบอร์ซานี

ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี

สำหรับส่วนใหญ่แล้ว คงคุ้นเคยกันดีกับนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี วัย 76 ปี มหาเศรษฐีที่มีธุรกิจหลากหลายประเภท เจ้าพ่อวงการสื่อยักษ์ใหญ่ของอิตาลี เจ้าของบริษัท Mediaset ที่มีกิจการครอบคลุมสื่อแทบทุกประเภท รวมทั้งยังเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล เอซี มิลาน อันโด่งดังระดับโลกด้วย โดยในระหว่างเส้นทางการเมืองของเขานั้น นายแบร์ลุสโคนีมักมีข่าวคาวเรื่องอื้อฉาวทางเพศ และมีคดีติดตัวหลายคดี รวมถึงคดีเลี่ยงภาษีที่ถูกศาลสั่งตัดสินจำคุก 4 ปีเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้วด้วย อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการลดหย่อนโทษจำคุกเหลือ 1 ปีภายใต้กฎหมายนิรโทษกรรมและขณะนี้ คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์

มาริโอ มอนติ

ทางด้านนายมาริโอ มอนติ อาจจะอยู่ในฐานะ “เป็นรอง" ในการเลือกตั้งคราวนี้ หลังจากที่รัฐบาลนักวิชาการของเขาได้ช่วยให้อิตาลีรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากอิตาลีผิดนัดชำระหนี้จริงๆก็จะส่งผลกระทบไปทั่วทั้งยูโรโซนและอาจลุกลามไปยังภูมิภาคอื่นๆของโลกด้วย รัฐบาลของนายมอนติได้สยบความกังวลของนักลงทุนในประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ไว้ได้ ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของอิตาลีที่มีการซื้อขายในตลาดรองปรับตัวลงจากระดับที่สูงกว่า 7% อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวทางในการลดรายจ่ายและงบประมาณด้านต่างๆ รวมทั้งความพยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ของอิตาลีในสายตาประชาคมระหว่างประเทศจะเป็นสิ่งที่ดูเหมือนมีความสมเหตุสมผล แต่ก็เป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ และทำให้ชาวอิตาเลียนจำนวนมากดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบากมากขึ้น ในขณะนี้หลายมาตรการที่เคยช่วยให้อิตาลีรอดพ้นวิกฤตมาได้นั้น กลับเหมือนดาบสองคมที่กำลังบั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนนักวิเคราะห์หลายรายว่าไม่มีแนวโน้มที่นายมอนติจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งหนนี้

ปิแอร์ ลุยจิ เบอร์ซานี

ส่วนนายปิแอร์ ลุยจิ เบอร์ซานี ดูจะเป็นที่รู้จักน้อยที่สุดในสายตานานาประเทศจากบรรดาผู้สมัครชิงตำแหน่งที่สำคัญทั้ง 3 คน แต่เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาหลายกระทรวงในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรม, คมนาคมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

นายเบอร์ซานี วัย 61 ปี เป็นบุตรชายของช่างเครื่องและเจ้าของปั๊มน้ำมันเล็กๆในเมืองทางภาคเหนือของอิตาลี โดยจบการศึกษาด้านปรัชญาและประวัติศาสตร์ และเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เขาเคยเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในช่วงสั้นๆ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เขาทำงานในด้านการเมือง

นายเบอร์ซานีกล่าวว่า หากเขาชนะการเลือกตั้ง สิ่งที่เขาจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก็คือ ความชอบธรรมตามกฎหมาย หลักจริยธรรมและการจ้างงาน

ในช่วงแรกหลังจากที่อิตาลีมีการประกาศยุบสภาและกำหนดจัดการเลือกตั้งใหม่นั้น นายเบอร์ซานีนับว่าเป็นตัวเต็งสำคัญ เนื่องจากผลการหยั่งเสียงชาวอิตาเลียนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่านายเบอร์ซานี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายกลางซ้าย มีคะแนนนำและมีโอกาสที่จะได้เป็นผู้นำอิตาลีคนใหม่มากที่สุด

โพลล์เริ่มพลิกผันก่อนถึงวันเลือกตั้ง

ในช่วงต้นเดือนม.ค. Opinioni ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำโพลล์ของอิตาลีระบุว่า นายเบอร์ซานีได้เสียงสนับสนุน 40% จากผลการสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่มีผู้สมัครในดวงใจแล้ว ขณะที่นายแบร์ลุสโคนีและนายมอนติต่างได้ไปคนละ 20% แต่ก็ยังมีชาวอิตาเลียนอีก 25% ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกผู้สมัครรายใด ซึ่งหมายความว่าตัวเลขคะแนนนิยมดังกล่าวยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้สูง

หลังจากนั้น คะแนนนิยมของนายเบอร์ซานีได้เริ่มลดลงเรื่อยๆ ขณะที่นายแบร์ลุสโคนีกลับมีคะแนนดีวันดีคืน โดยในช่วงปลายเดือนม.ค. เสียงสนับสนุนนายเบอร์ซานีอยู่ที่ 36% และนายแบร์ลุสโคนีได้ไป 29%

ตามกฎหมายของอิตาลีนั้น ห้ามไม่ให้มีการเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของทางการใดๆหลังวันที่ 8 ก.พ. แต่ผลสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่า นายแบร์ลุสโคนีมีคะแนนตีตื้นขึ้นมาเรื่อยๆ โดยตามหลังนายเบอร์ซานีอยู่ราว 5% และคะแนนอาจจะสูสีกันมากยิ่งขึ้นเมื่อใกล้ถึงวันเลือกตั้ง โดยผลสำรวจภายในของนายแบร์ลุสโคนีแสดงให้เห็นว่าเขามีคะแนนตามหลังนายเบอร์ซานีอยู่เพียง 2%

การเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีในครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ประเทศกำลังถูกปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องรุมเร้าอยู่ ชาวอิตาเลียนส่วนใหญ่จึงคาดหวังว่าผู้นำคนใหม่จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่อิตาลีเผชิญอยู่ได้ จึงเป็นเรื่องปกติที่แนวทางการหาเสียงของผู้สมัครจะให้น้ำหนักในประเด็นเศรษฐกิจและการยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัด

เมื่อพิจารณาถึงผลสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งของอิตาลีในช่วงที่ผ่านมา การที่นายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรี ชูนโยบายเลิกใช้มาตรการรัดเข็มขัด ทำให้เขาได้รับคะแนนนิยมมากขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปช่วงปลายเดือนนี้ ตลาดจึงเกิดความกังวลว่า หากนายแบร์ลุสโคนีกลับสู่อำนาจอีกครั้งก็อาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเงินของประเทศซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ริเริ่มเอาไว้

นักวิเคราะห์ทั่วโลกคงต้องติดตามผลการเลือกตั้งที่จะออกมาว่าใครที่จะเป็นคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งไม่ว่าใครจะได้เป็นผู้นำคนใหม่ของอิตาลีก็ตาม ย่อมจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายและการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพียงแต่ว่าจะในรูปแบบใดเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ