ปชป. ยันไม่ขวางปรองดอง แต่ไม่อยากมีส่วนร่วมล้างผิดคดีอาญา-คอร์รัปชั่น

ข่าวการเมือง Monday March 11, 2013 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ร่วมหารือตามคำเชิญของนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการขัดขวางการปรองดอง แต่การดำเนินการของรัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามบิดเบือนกระบวนการที่ถูกต้อง และพยายามจะให้พรรคไปมีส่วนสร้างความชอบธรรมให้กับการล้างผิดคดีอาญาและคดีคอร์รัปชั่น

อย่างไรก็ตาม จากข้อสรุป 4 ข้อที่มาจากการหารือของนายเจริญว่า 1.พรรคเห็นด้วยกับการสร้างความปรองดองและได้นำเสนอแนวคิดทางออก แต่ไม่ได้รับการสนองตอบ 2.ที่ระบุว่าต้องมีการให้อภัยนั้น พรรคเห็นว่าต้องมีการสำนึกและมีการแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำความ โดยในส่วนของการกระทำผิด ในส่วนคดีอาญา ทุจริตคอร์รัปชั่นหรือมาตรา กฎหมายอายญามาตรา 112 ต้องรับผิดก่อนพูดถึงการนิรโทษกรรม

3.การบรรเทาความขัดแย้งโดยปล่อยตัวนักโทษการเมืองนั้นอยากให้นายเจริญออมาระบุให้ชัดเจนว่า นักโทษการเมืองหมายถึงกลุ่มไหน เพราะตอนนี้ไม่มีใครต้องโทษในคดีการเมือง จึงอยากให้ระมัดระวัง อย่าสร้างความสับสน หรือเป็นชนวนความขัดแย้งในสังคมอีก หากนายเจริญตอบได้ว่านักโทษการเมืองหมายถึงใครน่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับการเจรจาครั้งต่อไป

4.การวิจารณ์ขอให้ยึดประชาชนไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งพรรคยืนยันว่าดำเนินการมาโดยตลอด ไม่เช่นนั้นคงไม่คัดค้านการนิรโทษกรรมคดีอาญา และทั้งหัวหน้าพรรคกับอดีตเลขาธิการพรรคก็แสดงความจำนงพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ

นายชวนนท์ กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่นายเจริญจะเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไปหารือเพื่อถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ทั้ง 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในวาระการปะชุมออกไป เพราะจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์เสนอไปชัดเจนแล้วให้ถอนทั้งสี่ฉบับออกไป ดังนั้นสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องหารือ

อย่างไรก็ตาม กรณีที่วิปรัฐบาลระบุว่าจะไม่เลื่อน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ 42 ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอ แต่ก็เป็นเอกสิทธิสส.หากจะขอเลื่อนขึ้นมาพิจารณานั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่น่าไว้วางใจเพราะปล่อยให้สส.ใช้เอกสิทธิของตัวเอง เพราะหากต้องการไม่ให้เกิดปัญหาจริงนายเจริญต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจนว่าจะเดินหน้าอย่างไร

นายชวนนท์ กล่าวถึงกรณี เฟซบุ๊กรัฐสภาไทยลบโพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลังจากที่มีฝ่ายไม่เห็นด้วยถึง 7,500 เสียง ขณะที่ มีฝ่ายเห็นด้วย 2,300 เสียง เป็นการแสดงให้เห็นความผิดปกติ เพราะไม่เคยมีการสอบถามเรื่องการออกกฎหมายฉบับอื่นมาก่อน ส่วนที่มีการชี้แจงจากแอดมินว่าการสำรวจดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวิจัยที่มีการ ฝังคำถามไว้มากกว่า 30 แห่งในโลกออนไลน์ แห่งนั้นอยากทราบว่าอยู่ที่ใดบ้าง พฤติกรรมเช่นนี้มีการปกปิดสร้างความกังขาให้เกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ