กมธ.แปรญัตติร่างแก้ไข รธน.ป่วน,ปชป.วอล์คเอาท์-ขู่ส่งศาล รธน.ตีความ

ข่าวการเมือง Thursday April 4, 2013 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมเกิดความวุ่นวายตั้งแต่นัดแรก เนื่องจากกรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) วอล์คเอาท์ พร้อมขู่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ หลังมีการชิงปิดอภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภา

รายงานข่าว แจ้งว่า เมื่อเวลา 11.00 น.มีการประชุมกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ทั้ง 3 ฉบับ เพื่อคัดเลือกประธานกรรมาธิการ รองประธานกรรมาธิการ โฆษกกรรมาธิการ พร้อมทั้งวางกรอบการประชุม เพื่อให้การทำงานของคณะกรรมาธิการฯ เป็นไปตามกรอบเวลา 15 วันที่มีการขอแปรญัตติไว้

โดยกรรมาธิการที่พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 กรณีการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ได้เลือกให้นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร เป็นประธานกรรมาธิการ, กรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 111 เรื่องที่มาของ ส.ว.เลือกนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการ โดยกำหนดให้มีการประชุมทุกวันอังคารและวันพุธ เวลา 10.00 น. ส่วนกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 เรื่องเกี่ยวกับการยุบพรรค เลือกนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานกรรมาธิการ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อตัวแทนกรรมาธิการจาก ปชป. เห็นว่าการปิดประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวานนี้(3 เม.ย.) ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบระหว่างการพิจารณากรอบเวลาการแปรญัตติ พร้อมเสนอให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง แต่กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และให้เดินหน้าตามขั้นตอน พร้อมเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เนื่องจากเห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจที่คณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณาได้ ทำให้กรรมาธิการสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายนิพิฐฎ์ อินทรสมบัติ และนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้วอล์คเอาท์ออกจากห้องประชุม ขณะที่กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์อีก 2 คณะ ก็ของดรับตำแหน่งใดๆ ในกรรมาธิการเช่นกัน

รายงานข่าว แจ้งว่า จากนั้น ส.ส.ประชาธิปัตย์ นำโดยนายวิรัตน์ได้ร่วมกันแถลงข่าวยืนยันปัญหาองค์ประชุมในการประชุมรัฐสภาเมื่อคืนนี้(3 เม.ย.) ไม่ครบ ส่งผลให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับไม่สมบูรณ์ และย้ำว่า ต้องเรียกประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อให้ถูกต้องตามกระบวนการ แต่หากไม่มีการดำเนินการตามข้อเสนอ พรรคประชาธิปัตย์จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เนื่องจากพบว่า การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มีประเด็นที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ