เอแบคโพลล์เผยคนส่วนใหญ่ขอเป็นพลังเงียบ แต่คัดค้านการทำรัฐประหาร

ข่าวการเมือง Friday June 28, 2013 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง จุดยืนทางการเมืองของประชาชนและการทำรัฐประหารในช่วงคนไทยสวมหน้ากากเข้าหากัน พบว่า จุดยืนทางการเมืองของสาธารณชนในขณะนี้กลับสู่จุดตั้งต้นของรัฐบาล โดยผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 18.4 สนับสนุนรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 17.6 ไม่สนับสนุนรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.0 ไม่อยู่ฝ่ายใด ขอเป็นพลังเงียบ

และเมื่อจำแนกออกตามเพศ พบว่า กลุ่มผู้หญิงส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.5 ไม่อยู่ฝ่ายใด ขอเป็นพลังเงียบมากกว่ากลุ่มผู้ชายที่มีอยู่ร้อยละ 61.4 ในขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐบาลกลุ่มผู้ชายจะมากกว่ากลุ่มผู้หญิงคือร้อยละ 19.5 และร้อยละ 19.1 ในกลุ่มผู้ชายในขณะที่ร้อยละ 17.3 และร้อยละ 16.2 ในกลุ่มผู้หญิง

แต่เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า ส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 60 ในทุกกลุ่มช่วงอายุไม่อยู่ฝ่ายใด ขอเป็นพลังเงียบ อย่างไรก็ตามในกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 20 ปียังพบผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่าไม่สนับสนุน

ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า กลุ่มที่สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 80.0 ไม่อยู่ฝ่ายใด ขอเป็นพลังเงียบ ซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดเปรียบเทียบกับกลุ่มปริญญาตรีร้อยละ 63.0 และกลุ่มต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 64.0 และที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มต่ำกว่า ปริญญาตรีที่เคยเป็นฐานสนับสนุนสำคัญของรัฐบาลกลับลดลงต่ำกว่ากลุ่มปริญญาตรีคือร้อยละ 17.1 ต่อร้อยละ 22.9 ที่สนับสนุนรัฐบาล

และเมื่อจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่ากลุ่มอาชีพเกษตรกรและรับจ้างใช้แรงงานทั่วไปที่เคยเป็นฐานสนับสนุนสำคัญของรัฐบาลลดลงเหลือเพียงร้อยละ 16.0 ในขณะที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมีอยู่ร้อยละ 20.5 ของกลุ่มเกษตรกรและผู้รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป อย่างไรก็ตาม ทุกกลุ่มอาชีพส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 60 กลับไปสู่จุดเดิมคือไม่อยู่ฝ่ายรัฐบาลและไม่อยู่ฝ่ายค้าน ขอเป็นพลังเงียบ

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงการทำรัฐประหาร พบว่า กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มพลังเงียบส่วนใหญ่คือร้อยละ 71.0 และร้อยละ 55.8 ระบุไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาล 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25.3 เห็นว่าเหมาะสม แต่โดยภาพรวมของสาธารณชนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา ชุมพร ตรัง และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,219 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-27 มิ.ย.56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ