อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 74.3 รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยว่ามีผู้ได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ นอกจากนี้เมื่อสัมภาษณ์เจาะลึกโดยสอบถามถึงการจัดเวทีต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่กังวลเรื่องการจัดตั้งกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาลเข้ามาสร้างความชอบธรรมในการตัดสินใจของรัฐบาล และเมื่อถามถึงความวางใจของประชาชนต่อรัฐบาลในการสร้างเขื่อนกับข้อมูลของผู้คัดค้านพบว่า ส่วนใหญ่มีความวางใจต่อรัฐบาลน้อยกว่าข้อมูลของผู้คัดค้าน
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.4 มองว่า กลุ่มผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการสร้างเขื่อนแม่วงก์มากที่สุด ได้แก่ นักการเมือง ที่ปรึกษา นักวิชาการฝ่ายการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น รองลงมา หรือร้อยละ 24.8 ได้แก่ กลุ่มนายทุน และมีเพียงร้อยละ 15.8 เท่านั้นที่ระบุเป็นประชาชนทั่วไป
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.3 คิดว่าจะมีการลักลอบค้าสัตว์ป่าค่อนข้างมากถึงมากที่สุด นอกจากนั้น ร้อยละ 78.0 ระบุควรให้เวลาเพื่อปฏิบัติการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่า และการรักษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยใกล้เคียง และร้อยละ 69.8 ควรเพิ่มบทบาทองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมตรวจสอบผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในขณะที่ร้อยละ 30.2 ระบุไม่ควร
ที่น่าพิจารณาคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 59.5 คิดว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และร้อยละ 81.1 ระบุควรชะลอและทบทวนโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์
ในตอนท้ายของผลสำรวจสรุปว่า การชะลอโครงการและทบทวนการสร้างเขื่อนตามเสียงสะท้อนของสาธารณชนที่ค้นพบครั้งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลและผู้ใหญ่ในสังคมน่าจะพิจารณาอย่างจริงจัง เพราะผู้นำรัฐบาลและผู้บริหารระดับสูงอาจไม่สามารถลงไปในรายละเอียดของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีการสร้างเครือข่ายรอการตัดสินใจของรัฐบาลเอาไว้อยู่แล้ว ดังนั้นการอาศัยข้อมูลที่รอบด้านและการเพิ่มบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศที่เป็นปัจจุบันเข้ามาช่วยกันปกป้องพื้นที่ป่า ชีวิตสัตว์ป่า (WILDLIFE) แหล่งน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ น่าจะช่วยทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
เอแบคโพลล์ ทำการสำรวจจากกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ พะเยา นครสวรรค์ นครพนม อุดรธานี สุรินทร์ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ชุมพร และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,140 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 กันยายน — 2 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน