สำหรับบุคคลที่จะเชิญมาให้ความเห็น ได้แก่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี, นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน, นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และนางสดศรี สัตยธรรม อดีตกกต. เป็นต้น
นอกจากนี้ จะขอความเห็นจากกรณีของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่ยังประกาศชื่อไม่ได้ เพราะยังไม่สามารถนับคะแนนได้ครบจากทุกหน่วยเลือกตั้งจะทำอย่างไร เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งกรณีที่หน่วยเลือกตั้งใดที่ถูกขัดขวาง หรือคัดค้านจากประชาชนนั้น เราจะมีวิธีการอย่างไร
ขณะเดียวกันยังมีโจทย์อีกข้อจากนางสดศรี สัตยธรรม อดีตกกต.ที่แสดงความเห็นว่า กกต.จะต้องประกาศผลนับคะแนนเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นจะผิดกฎหมาย ซึ่งในจุดนี้ก็เป็นโจทย์ว่า คะแนนจากการเลือกตั้งล่วงหน้ายังไม่ได้นำมานับรวม ดังนั้นจึงยังประกาศผลไม่ได้ จุดนี้จะทำอย่างไร เพราะคะแนนจากการเลือกตั้งล่วงหน้านี้ หาก กกต.จัดเลือกตั้งแล้วมีการขัดขวางเกิดขึ้นอีก และทำให้ไม่สามารถได้คะแนนครบจากทุกหน่วยจะทำอย่างไร ซึ่งทุกประเด็นนี้คงต้องมาช่วยกันหาคำตอบ
"ผมอยากได้ความเห็นจากทุกฝ่าย การเปิดกฎหมาย ใครก็เปิดได้ แต่เราอยากได้วิธีการปฏิบัติ...เราจะทำจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการ ผมจะนั่งฟังตั้งแต่เริ่มรายการจนถึงท้ายรายการ และจะสรุปเป็นความเห็นว่า ที่ประชุมให้ทำอย่างไร และจะนำความเห็นที่ได้ทั้งหมดเสนอต่อกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คนอีกครั้ง" นายสมชัย กล่าว พร้อมระบุว่า สำหรับกลุ่มที่เห็นตรงข้ามกับรัฐบาล ที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดการเลือกตั้งนั้น คงจะไม่เชิญมาร่วมหารือ เนื่องจากได้รับฟังความเห็นและมีข้อมูลในส่วนนี้มามากพอแล้ว
กกต.ฝ่ายบริหารการเลือกตั้ง กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ต้องการนำเสนอในการหารือวันที่ 17 ก.พ.นี้ ที่สำคัญคือ คำตอบของทุกเรื่องอยู่ที่การเจรจาของฝ่ายการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน เมื่อใดก็ตามที่ทั้งสองฝ่ายเจรจากันได้ หาทางออกให้แก่บ้านเมืองได้ การเลือกตั้งก็เป็นเรื่องง่ายแบบพลิกฝ่ามือ แต่หากการเจรจาระหว่างฝ่ายการเมืองยังไม่เกิดขึ้น มุ่งหน้าเอาชนะกันด้วยการเดินหน้าออกหมายจับ ตัดท่อน้ำเลี้ยง เนรเทศออกนอกประเทศ อีกฝ่ายหนึ่งก็จะเดินขบวนให้ถึงที่สุด นัดชุมนุมไปบุกยึดสถานที่ราชการต่างๆ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ต่อให้ใครมาจัดการเลือกตั้งก็ทำได้ลำบาก และเสียงบประมาณการจัดการเลือกตั้งไปแบบเปล่าประโยชน์ สุดท้ายประเทศชาติก็เสียหาย
นายสมชัย กล่าวว่า ในส่วนของ 28 เขตที่ยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ อันเนื่องจากไม่มีผู้มาลงสมัครรับเลือกตั้งได้นั้น กกต.จะทำความเห็นเป็นหนังสือไปถึงรัฐบาลเพื่อให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยขณะนี้ฝ่ายเลขาฯ ร่างหนังสือเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอต่อที่ประชุม กกต.ในวันพรุ่งนี้(11 ก.พ.) ก่อนที่จะส่งไปให้รัฐบาลได้พิจารณา
อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลปฏิเสธการออก พ.ร.ฏ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ก็อาจจะต้องเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าควรมีแนวทางในการปฏิบัติอย่างไร ซึ่งในจุดนี้การให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยถือว่าเป็นสิ่งดี เพราะจะทำให้การตัดสินใจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของแต่ละฝ่ายเกิดความมั่นใจว่าเมื่อทำไปแล้วจะไม่ขัดต่อกฎหมาย และเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
"เป็นสิ่งที่ดีกับทั้งสองฝ่าย เพราะถ้าศาลบอกว่าทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ก็จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นทำได้ด้วยความสบายใจ ไม่ต้องกลัวผิดกฎหมาย เช่น ถ้าบอกว่า กกต.ทำได้ เราก็จะได้ทำด้วยความสบายใจ ไม่ใช่จะมาโดนข้อหาว่าใช้ความพยายามทำเกินกฎหมายเพื่อประโยชน์ของฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือถ้าศาลบอกว่าให้รัฐบาลทำได้ รัฐบาลก็จะได้สบายใจว่าการออก พ.ร.ฎ.ไม่ซ้อน พ.ร.ฏ. ไม่ผิดกฎหมาย ไม่มีใครมาร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย เป็นต้น" นายสมชัย กล่าวส่วนกรณีที่มีผู้มองไปถึงว่า กกต.ตั้งใจจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าสามารถออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ ซึ่งผลของการออกพระราชกฤษฎีกาใหม่จะทำให้มีวันเลือกตั้งทั่วไปมากกว่า 1 วัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งทั่วประเทศใหม่ โดยให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะ และเริ่มขั้นตอนการรับสมัคร ส.ส.ใหม่นั้น นายสมชัย กล่าวว่า ตนคงไม่กล้าจะมองข้ามชอตไปไกลขนาดนั้น และที่สำคัญตนยังไม่ได้เห็นหนังสือที่กกต.จะนำเสนอรัฐบาลว่าจะมีการขอความเห็นในเรื่องใดบ้างสำหรับการหารือร่วมกันวันที่ 17 ก.พ.นี้