(เพิ่มเติม) ศรส.เผยมีการแจ้งความเอาผิด 5 กกต.ปมเลือกตั้ง, งดประชุม 14-16 มี.ค.

ข่าวการเมือง Thursday March 13, 2014 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) เปิดเผยผลการประชุมวันนี้ว่า ศรส.ได้รับรายงานว่ามีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ทั้ง 5 คน ในความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายอาญาจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยในต่างจังหวัดนั้นมี 2 จังหวัด คือ สตูลและพัทลุง ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการแจ้งความร้องทุกข์ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล รวม 6 สถานี คือ สน.สามเสน, บางพลัด, ทุ่งสองห้อง, บางซื่อ, ดอนเมือง และธรรมศาลา

โดยเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับกกต.กลาง ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดการขัดขวางการเลือกตั้ง และไม่ดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งมีพฤติการณ์ที่สำคัญ เช่น ไม่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย, ปล่อยให้มีการกระทำต่างๆ อันเป็นความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง, ไม่จัดให้มีการรับสมัครใน 28 เขตที่ยังสมัครไม่ได้, ไม่มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นในการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยเรียบร้อย, ไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง และเจตนาขัดขวางเพื่อไม่ให้ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ศรส.จะติดตามและกำชับการดำเนินคดีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยเคร่งครัด และป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีกในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอนาคตนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมศรส.ยังได้รับรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ล่าสุดวันที่ 13 มี.ค.57 ถึงคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งอันเกิดจากการกระทำของแกนนำ กปปส.กับพวก เมื่อครั้งการเลือกตั้งที่ผ่านมาดังนี้ 1.คดี กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้งทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 194 คดี แยกเป็นคดีเกิดในกรุงเทพฯ 51 คดี และคดีที่เกิดในต่างจังหวัด 143 คดี 2.คดีที่เจ้าหน้าที่ กกต.จงใจละทิ้งไม่จัดการเลือกตั้ง รวมทั้งสิ้น 177 คดี แยกเป็นคดีที่เกิดในกรุงเทพฯ 66 คดี และคดีที่เกิดในต่างจังหวัด 111 คดี รวมคดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งทั้งสิ้น 371 คดี โดยศาลได้ออกหมายจับให้รวมทั้งสิ้น 192 คน ได้ตัวมาสอบสวนแล้ว 115 คน ทั้งนี้เฉพาะเจ้าหน้าที่ กกต.จงใจละทิ้งไม่จัดการเลือกตั้งมีจำนวนถึง 1,552 คน

ศรส.ขอย้ำเตือนว่าโทษที่เกี่ยวข้องกับการขัดขวางการเลือกตั้ง เป็นความผิดอุกฉกรรจ์ที่มีทั้งโทษจำคุกและปรับ รวมถึงการตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปีตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่ง ศรส.จะติดตามและกำชับการดำเนินคดีกับแกนนำ กปปส.ที่ขัดขวางการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษและป้องปรามไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำอีกในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้

ส่วนกรณีที่ญาติผู้ตายจากเหตุการณ์บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศได้ฟ้องนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 6 คน ต่อศาลอาญานั้น ศรส.ขอยืนยันว่าการปฏิบัติการของ ศรส.บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศไม่ใช่การสลายการชุมนุมหรือการกระชับพื้นที่หรือการขอคืนพื้นที่ แต่เป็นการปฏิบัติการเพื่อเข้าตรวจค้น ติดตามจับกุมผู้กระทำผิดตามหมายจับของศาล และยังเป็นการเปิดสถานที่ราชการหรือถนนสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม ซึ่งได้ปฏิบัติไปตามกรอบของกฎหมายและความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยมียุทธวิธีที่เหมาะสมต่างกันไป

ประการสำคัญเป็นการปฏิบัติการโดยเปิดเผย มีการให้สื่อมวลชนเข้าร่วมทำข่าว มีส่วนร่วมและช่วยตรวจสอบด้วย และเมื่อเข้าปฏิบัติการแล้วก็ได้ตรวจยึดอาวุธ ยาเสพติด และสิ่งของผิดกฎหมายต่างๆ เช่น อุปกรณ์ใช้ทำวัตถุระเบิด ส่วนผู้กระทำผิดได้หลบหนีไป ดังนั้นเมื่อปฏิบัติการเสร็จสิ้น จึงให้กำลังตำรวจกลับสู่ที่ตั้งโดยไม่จำเป็นต้องคงกำลังตำรวจไว้ในพื้นที่ เพราะไม่ใช่การขอคืนพื้นที่ แต่เป็นการปฏิบัติการเพื่อคืนความสงบสุขให้กับสังคมโดยรวม

อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีของผู้เสียหายดังกล่าวเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ตามกฎหมาย และ ศรส.ก็พร้อมที่จะชี้แจงต่อสู้คดีตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม โดยจะได้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการแก้ต่างคดีโดยเร็วต่อไป

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะกรรมการ ศรส.กล่าวว่า ที่ประชุม ศรส. ได้หารือกันในส่วนของผู้ปฏิบัติงานในคณะกรรมการ ศรส.ว่าเห็นควรจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยผลของมติคณะรัฐมนตรีจะสิ้นสุดในวันที่ 22 มี.ค.57 ขณะเดียวกันส่วนใหญ่มีแนวโน้มเห็นว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะสิ้นสุดนั้น เพียงพอสมควรแก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว อีกทั้งจะมีการลดระดับของความเข้มข้นในแง่ของข้อกฎหมายลงไปเป็นระดับของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งได้มีการสอบถามความเห็นในภาพรวมและความเห็นส่วนใหญ่บอกว่าจะไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้มีมติออกมาจากที่ประชุมวันนี้

อย่างไรก็ตาม ศรส.จะงดการประชุมเป็นเวลา 3 วัน วันที่ 14-16 มี.ค.นี้ เพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ขณะเดียวกันในที่ประชุมวันนี้ ได้หารือถึงสิ่งที่จะต่อเนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ การดำเนินคดีซึ่งจะหยุดไม่ได้ ทั้งในส่วนของคดีข้อหากบฏมีผู้ร่วมกระทำความผิด จำนวน 58 ราย และคดีฐานขัดขวางการเลือกตั้ง จำนวน 371 คดี อีกทั้ง ในส่วน 371 คดีนี้ผู้กระทำความผิดส่วนหนึ่งจะทับซ้อนกับผู้กระทำความผิดข้อหากบฏ โดยตั้งแต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ลงไป ก็หมายถึงว่า 58 ราย ไม่ได้มีเฉพาะความผิดฐานกบฏ ฐานยุยงส่งเสริมให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ฐานมั่วสุมกันก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองเท่านั้น แต่ขณะนี้ได้ถูกผนวกความผิดฐานขัดขวางการเลือกตั้งเข้าไปด้วยเกือบทั้ง 58 คน

อีกทั้งยังเลยไปถึงกลุ่มคนที่ถูกแกนนำ กปปส.ชักจูงให้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพราะมีผู้ถูกกระทำผิดจำนวนมาก ซึ่งศาลได้ออกหมายจับแล้วจำนวน 192 ราย และกลุ่มคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ กกต.ตามเขตหรือตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ถูกดำเนินคดีถึง 1,552 ราย ซึ่งสิ่งเหล่านี้หยุดดำเนินการไม่ได้ แม้จะเปลี่ยนแปลงจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปเป็นกฎหมายความมั่นคง แต่การดำเนินคดีนี้ยังคงสืบทอดต่อเนื่องต่อไป

อีกทั้ง ยังได้มีการพิจารณาว่าการที่แกนนำ กปปส.ได้เข้าไปอยู่ในสวนลุมพินีและได้จัดเชิงวิชาการรายวันนั้น จากการวิเคราะห์ของตำรวจสันติบาล สำนักข่าวกรอง และหน่วยทำคดี ประกอบด้วย DSI ตำรวจและอัยการมีความเห็นว่า แกนนำพยายามจะนำการกระทำส่วนนี้มาใช้ประโยชน์ในการต่อสู้คดี ให้เห็นว่าที่ถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ ข้อหาขัดขวางการเลือกตั้ง แท้จริงแล้วต้องการจะมีการประชุมปฏิรูปต่างๆ แต่จะเห็นได้ว่าไม่มีความชัดเจน ไม่มีความหนักแน่น ไม่มีคนมาร่วมที่เป็นตัวหลัก ซึ่งได้วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นมุมที่ทำไว้เพื่อใช้ในการต่อสู้คดีว่าแท้จริงแล้วต้องการให้มีคุณภาพในเรื่องปฏิรูปด้วย

"คงจะไม่มีใครตอบได้ดีที่สุดเท่าแกนนำทำไปเพื่ออะไร แต่ในมุมมองของฝ่ายดำเนินคดีกับฝ่ายการข่าวเห็นว่าเป็นเช่นนั้น" นายธาริต ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ