ศรส.เตรียมเสนอมาตรการเยียวยา SME ที่ถูกผลกระทบปิดกรุงเทพฯ เข้าครม.

ข่าวการเมือง Tuesday March 18, 2014 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) แถลงผลประชุมวันนี้ว่า ศรส.ได้พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมปิดกรุงเทพมหานครของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ตามที่คณะทำงานฯ ที่มีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน แล้ว มีมติเห็นชอบตามแนวทางที่คณะทำงานฯ เสนอ ดังนี้

1.ขอบเขตการให้ความช่วยเหลือนั้น จะให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ในเขตพื้นที่ชุมนุม และนอกเขตพื้นที่ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม นับแต่เกิดเหตุชุมนุมและภายหลังการชุมนุมด้วย

2.หลักเกณฑ์การช่วยเหลือ กรณีประชาชนจะต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ส่วนกรณีผู้ประกอบการธุรกิจ ต้องอยู่ในระบบเสียภาษีโดยมีหลักฐานการประกอบธุรกิจชัดเจน

3. มาตรการให้ความช่วยเหลือ ได้แก่

  • มาตรการทางการเงิน ได้แก่ ด้านการยืดระยะเวลาชำระเงินต้น สนับสนุนเงินทุน โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย จะประสานขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินต่าง ๆ
  • มาตรการส่งเสริมการตลาด ได้แก่ จัดกิจกรรมเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าและบริการ โดยมีกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รับผิดชอบ
  • มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการผลิต การฝึกอบรมผู้ประกอบการ โดยมี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และ สสว. รับผิดชอบ
  • มาตรการผ่อนปรนการชำระภาษี ได้แก่ การขยายกำหนดเวลายื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ขยายเวลาการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ขยายเวลายื่นชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยมีกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบ
  • มาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายระยะสั้น ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น การผ่อนปรนค่าสาธารณูปโภค การลดค่าเช่า การจัดหาสถานที่ทำการค้า โดยมีกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบ
  • มาตรการแรงงาน ได้แก่การให้เงินช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน โดยมีกระทรวงแรงงานรับผิดชอบ

4.ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นศูนย์รับแจ้งผลกระทบจากประชาชนและผู้ประกอบการ และประสานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ศรส.จะได้เสนอแนวทางดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยเร่งด่วนต่อไป

นอกจากนี้ จากที่ ศรส.เห็นควรให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แทนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เนื่องจากสถานการณ์ด้านการชุมนุมต่อต้านทั้งของกลุ่ม กปปส. และกลุ่มอื่นๆ ตลอดจนเหตุร้ายแรงต่างๆ ได้ลดระดับลงมากแล้ว อีกทั้งจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศทั้งในเชิงการลงทุน ธุรกิจ และการท่องเที่ยว รวมถึงการดำรงชีพและการทำมาหากินของประชาชนโดยรวมด้วย

โดยในวันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ถึง 30 เมษายนนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน.จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว รวมถึงการพิจารณาจัดโครงสร้างเพื่อการบริหารจัดการและการสนธิกำลังของหน่วยงานต่างๆ อันได้แก่ ตำรวจ ทหาร และพลเรือน เพื่อทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ที่จะกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรต่อไป

นอกจากนี้ ศรส.ได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เกี่ยวกับการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุชุมนุมเป็นต้นมา ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจลดลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลดลง เนื่องจากหลายประเทศได้ประกาศเตือนพลเมืองของตนเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย และมีการยกเลิกหรือเลื่อนการจัดประชุมในประเทศไทยอีกหลายรายการ

ประการสำคัญคือ เหตุการณ์ความไม่สงบได้ส่งผลให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอย และภาคธุรกิจชะลอการลงทุนเนื่องจากไม่มั่นใจในเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงเป็นลำดับจนปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ 61.4 ส่วนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจลดลงเป็นลำดับจนปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ 45.4 ซึ่งเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง และตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งเดิม สศช. ได้ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 4.0-5.0 จะต้องปรับลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.0-4.0

ศรส.จึงขอให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม กปปส. กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มใดๆ ตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติในระยะยาว และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยสันติวิธีโดยเร็วเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นส่วนรวม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ