"อุกฤษ"มองคำวินิจฉัยศาลรธน.อาจมีปัญหา แนะ"ปู"ทำงานต่อ-รีบเลือกตั้ง,ยุเข้าชื่อถอดถอนตุลาการ

ข่าวการเมือง Thursday May 8, 2014 13:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.) มองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีบางส่วนพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่อาจเป็นคำวินิจฉัยที่มีปัญหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตุลาการที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาและทำคำวินิจฉัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัย และที่สำคัญการพิจารณาวินิจฉัยคดีดังกล่าวได้กระทำไปโดยไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญรองรับ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคหก

"การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และทำให้คำวินิจฉัยดังกล่าวตกไปทั้งฉบับ"นายอุกฤษ ระบุในแถลงการณ์ชี้แจงถึงแนวทางปฏิบัติภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)

นายอุกฤษ เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับวินิจฉัยกรณีดังกล่าว เพราะนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัยอีก และการย้ายนายถวิลฯ เป็นการใช้อำนาจบริหารตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน มิใช่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซง นอกจากนั้นความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ จะสิ้นสุดลง หรือรัฐมนตรีทั้งคณะจะพ้นจากตำแหน่ง ก็ต่อเมื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีแล้วเท่านั้น ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

แต่ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องและมีคำวินจฉัยออกมาแล้ว จึงขอเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยดังกล่าวว่าจะต้องดำเนินการหรือปฏิบัติต่อไปอย่างไร เพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ส่งเสริมให้มีการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ความเสมอภาค และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้กฎหมายของประเทศ อันจะนำไปสู่สังคมที่มีความเป็นปกติสุข ดังนี้

1.ก่อนที่ ครม.จะได้ดำเนินการต่อไปอย่างไร ในเบื้องต้นควรที่จะต้องรอคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน

2.เมื่อคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ครม.ควรที่จะนำคำวินิจฉัยนั้นหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้มีการพิจารณาและวินิจฉัยโดยเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ เพียงใด และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐหรือไม่

3.ระหว่างรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษา และรอความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งหมดอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ให้มีช่องว่างแห่งการใช้อำนาจมหาชน

4.ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.โดยเร็ว เพื่อที่จะได้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ครม.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินต่อไปอันเป็นการยุติบทบาทหรือยุติการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ชุดเดิมตามที่หลายฝ่ายต้องการ ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งดังกล่าวควรที่จะมีการทำประชามติไปในคราวเดียวกันว่าครม.ชุดเดิมจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

5.สำหรับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือเห็นว่าการพิจารณาวินิจฉัยคดีที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำไปโดยไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญรองรับ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคหก อันเป็นการจงใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ก็สามารถเข้าชื่อกันจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน เพื่อขอให้ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งได้ ตามมาตรา 164


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ