"จาตุรนต์"โพสต์เฟซบุ๊คเมินรายงานตัวยอมถูกจับ,เรียกร้องคสช.คืนอำนาจ-จัดเลือกตั้งโดยเร็ว

ข่าวการเมือง Tuesday May 27, 2014 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการหลบหนี ไม่ต้องการเคลื่อนไหวต่อต้านหรือลงใต้ดินต่อสู้แต่อย่างใด และพร้อมที่จะให้คุมตัวในเวลาที่เหมาะสม
"ผมได้พูดไว้แล้วว่าพร้อมจะให้คสช.มารับตัวหรือคุมตัวไปในเวลาที่เหมาะสม บัดนี้เมื่อมีพระบรมราชโองการตั้งหัวหน้าคสช.ขึ้นแล้ว แม้ผมจะยังคงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ก็ทราบว่าคสช.ย่อมมีอำนาจตามระบบกฎหมายของไทยในหลายๆประการ ผมจึงพร้อมที่จะให้คสช.มาควบคุมตัวไปดำเนินการต่อไปตามแต่จะเห็นเหมาะสม"นายจาตุรนต์ กล่าว

สำหรับเหตุผลที่ไม่ได้ไปรายงานตัวต่อคสช.นั้นท นายจาตุรนต์ อธิบายว่า เมื่อไม่ยอมรับการรัฐประหาร จึงไม่อาจไปรายงานตัวต่อคณะรัฐประหารได้ ขอชี้แจงเพิ่มเติมอีกด้วยว่ามีความเห็นมาแต่ต้นและได้แสดงความเห็นต่อรัฐมนตรีหลายท่านและต่อสาธารณชนด้วยว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ได้ทำไปนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขัดต่อพ.ร.บ.กฎอัยการศึกเอง เนื่องจากไม่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ

ส่วนการรัฐประหารนั้นก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช.ย่อมไม่อาจถือได้ว่าการรัฐประหารได้สำเสร็จเสร็จสิ้นแล้ว การกระทำของพลเอกประยุทธ์กับพวกที่ประกาศยึดอำนาจจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 คำสั่งต่างๆของคสช.ในช่วงที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการตั้งหัวหน้าคสช.จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ความจริงข้อนี้จะสังเกตได้ไม่ยากว่าต่อไปก็จะต้องมีการนิรโทษกรรมการกระทำต่างๆของคณะคสช.ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่มีพระบรมราชโองการตั้งหัวหน้าคณะคสช.

ทั้งนี้ ในอดีตเคยมีการพยายามทำรัฐประหาร มีคำสั่งให้ใครต่อใครไปรายงานตัว แต่เมื่อไม่มีพระบรมราชโองการตั้งบุคคลเหล่านั้นให้ควบคุมการบริหารราชการ ต่อมาคณะบุคคลนั้นก็กลายเป็นกบฏไป ผู้ที่ไปรายงานตัวหรือให้ความร่วมมือก็พลอยมีความผิดไปด้วย จากประสบการณ์ในอดีตและข้อกฎหมายดังกล่าวจึงได้ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวต่อคสช.

สิ่งที่จะทำต่อไปยังยืนยันว่า จะใช้สิทธิเสรีภาพเท่าที่มีอยู่ต่อสู้เรียกร้องให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย โดยเริ่มจากการเรียกร้องให้คสช.คืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนและให้มีการเลือกตั้งตามกติกาที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้การดำเนินการใดๆจะเป็นไปโดยสันติวิธี สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 2 และเป็นไปตามกฎหมายที่ชอบธรรม

"ผมได้เลือกการแสดงออกในการคัดค้านตามหลักอารยะขัดขืน ซึ่งก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับผลทางกฎหมายที่จะตามมา หากจะมีการดำเนินคดีก็พร้อมจะสู้คดีตามสิทธิ์ที่พึงมีต่อไป เนื่องจากเข้าใจว่าอาจมีการดำเนินคดีกับบุคคลจำนวนไม่น้อย ผมจึงขอเสนอว่าการดำเนินคดีต่อผู้มีความเห็นแตกต่างทางการเมืองนั้นไม่ควรใช้ศาลทหาร แต่ควรให้ศาลยุติธรรมพิจารณาไปตามปรกติ"นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ ยังมีข้อเสนอต่อ คสช.ดังนี้ 1. คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด ให้มีการเลือกตั้งตามกติกาที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด 2. ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ไม่ปราบประชาชนและไม่เลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันความรุนแรงในสังคม ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยโดยสันติวิธีได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ดีกว่าจะผลักไสให้ประชาชนหันไปต่อสู้ด้วยวิธีอื่นๆ

3.ส่งเสริมให้มีการแสวงหาความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการทำให้ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขถึงแม้ว่าจะมีความคิดเห็นที่ต่างกัน นี่คือปัญหาพื้นฐานอย่างหนึ่งของสังคมไทย การใช้อำนาจความเด็ดขาดไม่ใช่ทางออก 4.ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมอยู่ทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด

5. หากต้องการปฏิรูปจริงก็ขอให้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ขอความกรุณาเข้าใจว่าสังคมไทยมีความเห็นแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งต่อรัฐธรรมนูญปี 50 และต่อการปฏิรูปที่หลายฝ่ายเสนออยู่ การหาข้อยุติจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และ 6. ในการดำเนินการต่างๆต่อจากนี้ไป หวังว่าท่านจะคำนึงถึงความเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

พร้อมทั้งมีข้อเสนออีกว่า ผู้รักประชาธิปไตยย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และการดำเนินการใดๆที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร แต่ขอเสนอให้การเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยเป็นไปโดยสันติวิธี พร้อมที่จะรับกับสภาพที่สังคมไทยอาจจะตกอยู่ในวิกฤตที่ยืดเยื้ออีกนานหลายปี

ปัญหาของบ้านเมืองได้สะสมกันมามาก ในหลายปีมานี้ประชาธิปไตยที่ประชาชนเราพยายามรักษากันตลอดมาได้ค่อยๆร่อยหรอลง จนในที่สุดเราก็ต้องสูญเสียประชาธิปไตยไปจากการรัฐประหาร จากนี้ไปกฎกติกาของบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรก็ยังมีความเห็นที่ต่างกันอย่างมากในสังคมไทย จำเป็นที่ผู้รักประชาธิปไตยจะต้องช่วยกันคิดว่า กติกาที่เป็นประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับและสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

รวมทั้งมี มีข้อเสนอต่อประชาคมโลกว่า ขอขอบคุณรัฐบาลประเทศต่างๆและองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย ที่ห่วงใยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย ที่ได้พยายามหาทางระงับยับยั้งไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และที่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการประกาศใช้กฎอัยการศึกและการทำรัฐประหารครั้งนี้ ขอขอบคุณที่ได้เรียกร้องให้คณะรัฐประหารคืนความเป็นประชาธิปไตย และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด หวังว่าความช่วยเหลือตามหลักประชาธิปไตยบนพื้นฐานของความเป็นอารยประเทศนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ