"ประยุทธ์"หารือนักธุรกิจจีน แจงเหตุผลบริหารปท. ยันการค้า-การลงทุนโปร่งใส

ข่าวการเมือง Friday June 6, 2014 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ปัทมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฝ่ายพลเรือน แถลงผลการหารือระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับ สภาอุตสาหกรรม และนักธุรกิจรายใหญ่ของจีนว่า การเข้าพบในครั้งนี้เพื่อประสานความร่วมมือด้านการลงทุน สร้างความมั่นใจในการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ โดยพล.อ.ประยุทธ์ได้อธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นในการใช้อำนาจบริหารประเทศเพื่อแก้ไขข้อจำกัดทั้งด้านข้อกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ระบบบริหารราชการแผ่นดินสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้โดยไม่มีอุปสรรค รวมถึงนโยบายการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ

ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า จากนี้ไปการค้า การลงทุน จะมีความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรวจสอบได้ ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก สิ่งเหล่านี้จะเป็นต้นแบบในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ทั้งนี้ นักธุรกิจจีนที่ต้องการมาลงทุนในประเทศไทย ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ สร้างความเข้มแข็งแก่แรงงานไทย โดยเฉพาะ การตั้งบริษัทลูกที่บริหารโดยคนไทย จะเป็นการสนับสนุนบริษัทแม่ของจีน และสามารถเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในประเทศโดยเฉพาะด้านการเกษตรที่มีราคาตกต่ำ

นอกจากนี้ ให้นักธุรกิจจีนที่ต้องการจัดตั้งโรงงานขึ้นใหม่ในไทยนั้น คำนึงถึงการใช้พลังงานทดแทน รักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพและพัฒนาบุคลากร ขอความร่วมมือกับนักธุรกิจชาวจีนในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่ถูกต้องแก่นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อให้มีความมั่นใจต่อการลงทุนและท่องเที่ยวในประเทศไทย

น.ส.ปัทมาภรณ์ กล่าวว่า ไทยได้ขอความร่วมมือนักธุรกิจจีนช่วยประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของไทยให้นักลงทุนของจีน และนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้จีนมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย และยังคงเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน ขณะที่นักธุรกิจจากจีนได้สะท้อนความเชื่อมั่นนโยบายของไทย เนื่องจากดัชนีการลงทุนของไทยขณะนี้มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พร้อมระบุว่า ในวันนี้เวลา 20.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จะจัดรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" โดยจะจัดรายการในประเด็นการครบรอบ 60 ปี ปฏิบัติการสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อเทียบเคียงสถานการณ์ปัจจุบัน ให้ช่วยกันเสียสละเพื่อบ้านเมืองร่วมกันเดินหน้าสร้างความปรองดอง

ด้านร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษก คสช. เปิดเผยถึงผลการประชุมติดตามความคืบหน้า 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, ฝ่ายกิจการพิเศษ และหน่วยงานราชการว่า โดยภาพรวมของฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมนั้น คสช.จะไม่เข้าไปก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม โดยเรื่องที่จะกระทบโครงสร้างค่าตอบแทนจะไปดำเนินการในระยะที่ 2 เรื่องของการปฏิรูป ส่วนโครงสร้างขนาดใหญ่จะทำเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่มีผลกระทบต่อประชาชนจะเร่งพิจารณา รวมถึงเรื่องข้อขัดข้องด้านการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ และเรื่องที่ค้างในกระบวนการยุติธรรม

ส่วนการบังคับใช้กฏหมายนั้น จะปรับใช้กฏหมายในสถานการณ์ปกติ ขณะที่กฏหมายตามประกาศกฏอัยการศึกนั้น เจ้าหน้าที่จะดำเนินการเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ขณะที่ฝ่ายกิจการพิเศษนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้หลักการในการทำงานให้ดำเนินโครงการโดยเฉพาะโครงการในพระราชดำริให้เกิดสัมฤทธิ์ผล

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงบประมาณ ทั้งกรณีภัยแล้งและน้ำท่วม เพื่อเสนอฝ่ายเศรษฐกิจ และคณะคสช.ต่อไป ส่วนการบริการประชาชน คสช.ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ จัดการบริการให้ภาคประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้ ให้จัดระบบการบริการให้กับประชาชนให้เกิดความเหมาะสม และรวดเร็ว

สำหรับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ จะเน้นการจัดการให้เป็นเอกภาพชัดเจน ทั้งในระดับนโยบาย ระดับยุทธศาสตร์ ซึ่งจะจัดเจ้าหน้าที่เข้าดูแลในพื้นที่ตามความเหมาะสม

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีการควบคุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด หลังควบคุมตัวได้ว่า ลำดับแรกจะมีการควบคุมในพื้นที่พิเศษโดยใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน ก่อนที่จะส่งตัวให้ตำรวจดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ในระหว่างควบคุมตัวจะมีการทำความเข้าใจ และปรับทัศนคติ โดยคาดว่าความผิดเบื้องต้นคือขัดประกาศคำสั่ง คสช. และการปลุกปั่นทางโซเซียลเน็ตเวิร์ค แต่ความชัดเจนของข้อหาจะต้องรอฟังทางพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการหาข้อเท็จจริง

ส่วนการแสดงความเห็นของฝ่ายต่างๆ ย้ำว่า คสช.ไม่มีการจำกัด เพียงแต่ไม่อยากให้มีการแสดงความเห็นที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ขณะที่ทหารยังติดตามบุคคลหลังการเข้ามารายงานตัว เนื่องจากจะต้องตรวจสอบว่าแต่ละคนมีทัศนคติเหมือนกับที่ได้พูดคุยกับทาง คสช.ไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่

สำหรับกรณีที่มีการนัดชุมนุมต่อต้าน คสช.ในวันที่ 8 มิ.ย.นั้น คสช.ยังคงดำเนินการ 2 วิธี คือการปิดกั้นการติดต่อสื่อสาร และหากฝ่าฝืนจะให้ตำรวจและฝ่ายปกครองเข้ามาดูแล ซึ่งต้องการใช้กฎหมายปกติในการดูแลมากที่สุดโดยกฎอัยการศึกจะเป็นลำดับสุดท้าย

ส่วนกรณีการลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น พ.อ.วินธัย ระบุว่า ขณะนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดของผู้บริหารคสช. โดยจะต้องมีการประสานหลายหน่วยงานจึงต้องใช้เวลาในการดำเนินงานทั้งขั้นการเตรียมงานและการลงพื้นที่ตรวจสอบ ทั้งนี้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลรายละเอียดได้เพราะยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ แต่ยืนยันว่าจะมีการชี้แจงต่อสื่อมวลชนแน่นอน เพราะถือเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ