นิด้าโพลเผยปชช.หนุนนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง-แนะคสช.ปฏิรูปการเมืองเร่งแก้คอร์รัปชั่น

ข่าวการเมือง Thursday June 19, 2014 10:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เผยประชาชนส่วนใหญ่ 77.57% ระบุคุณสมบัติและที่มาของนายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน รองลงมา 9.74% ระบุนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร, 7.50% ระบุนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.และได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร, 2.87 ระบุนายกรัฐมนตรีควรมาจากการแต่งตั้ง และเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และที่สำคัญต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ แต่อีก 2.31% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

โดยรูปแบบการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เหมาะสมกับประเทศไทยนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 38.04% ระบุเป็นระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตละหนึ่งคน(One Man One Vote) รองลงมา 25.59% ระบุเป็นระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ, อีก 11.32% ระบุเป็นระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตใหญ่หลายคน แต่ไม่เกิน 3 คนต่อหนึ่งเขต(ระบบพวงใหญ่), 10.45% ระบุเป็นระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ตามกลุ่มอาชีพ, 6.36% ระบุเป็นระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรายจังหวัด, 2.61% ระบุเป็นระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรายภาค, 0.13% ระบุเป็นระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบอื่นๆ เช่น การเลือกตั้งแบบสหรัฐอเมริกา และ 5.49% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ส่วนความจำเป็นของการสังกัดพรรคการเมืองของผู้ที่จะมาเป็น ส.ส. ประชาชนส่วนใหญ่ 54.27% ระบุไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง รองลงมา 40.86% ระบุจำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง และอีก 4.87% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

และจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเร่งดำเนินการปฏิรูปการเมืองในด้านต่าง ๆ ของ คสช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 23.43% ระบุว่า ควรปฏิรูประบบการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองและข้าราชการ รองลงมา 20.24% ระบุว่า ควรแก้ไขปัญหาพฤติกรรมนักการเมือง, 17.63% ระบุว่า ควรแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง, 16.36% ระบุว่า ควรปฏิรูประบบการเลือกตั้ง, 5.76% ระบุว่า ควรพิจารณาคุณสมบัติและที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว., 4.67% ระบุว่า ควรเพิ่มช่องทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจสาธารณะ, 4.06% ระบุว่า ควรเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.), 3.40% ระบุว่า ควรป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนเข้าครอบงำพรรคการเมือง, 2.61% ระบุว่า ควรสร้างระบบการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น, 0.14% ระบุว่า อื่น ๆ เช่น การเคารพสิทธิและเสียงในระบอบประชาธิปไตย การเปิดโอกาสให้นักการเมืองรุ่นใหม่ ๆ ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น และควรปฏิรูปไปพร้อม ๆ กันในทุก ๆ เรื่อง และ 1.70% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ทั้งนี้ นิด้าโพลได้ทำการสำรวจความคิดเห็นในเรื่อง "คสช.กับการปฏิรูปการเมือง"จากประชาชนทั่วประเทศ 1,253 ตัวอย่าง ช่วงวันที่ 17-18 มิ.ย.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ