นิด้าโพล เผยปชช.ส่วนใกญ่เห็นด้วยข้อเสนอ กกต.ต่อการปฏิรูปการเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Sunday July 13, 2014 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ข้อเสนอของ กกต. ต่อการปฏิรูประบบการเลือกตั้งและที่มาของ ส.ส. และ ส.ว." โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9 – 10 กรกฎาคม 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,247 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือกตั้งไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง และการสืบทอดอำนาจของนักการเมือง

โดยจากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอของ กกต. ที่เสนอให้เปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต จากระบบเขตเดียวเบอร์เดียว เป็นระบบเขตใหญ่หลายเบอร์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.79 ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว รองลงมา ร้อยละ 26.70 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และ ร้อยละ 12.51 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอของ กกต. ที่เสนอให้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ควรมาจากกลุ่มสาขาอาชีพที่หลากหลาย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.60 ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว รองลงมา ร้อยละ 12.11 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 3.21 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ ส่วนที้เหลือ ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ควรยกเลิก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอของ กกต. ที่เสนอให้ ส.ส. มีวาระในการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระ หรือ 8 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.69 ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว รองลงมา ร้อยละ 24.14 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และ ร้อยละ 3.77 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ ขณะที่ ร้อยละ 0.40 ระบุว่า ควรกำหนดให้น้อยกว่านี้ หรือไม่เกิน 1 วาระ

ความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอของ กกต. ที่เสนอให้ หากเมื่อมีการยุบสภา ควรให้ปลัดกระทรวง ทบวง กรม รักษาการแทนคณะรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.00 ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว รองลงมา ร้อยละ 25.10 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และ ร้อยละ 8.90 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ

และเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอของ กกต. ที่เสนอห้ามมิให้ บุพการี บุตร บุญธรรม คู่สมรสตามกฎหมาย หรือ อดีตคู่สมรส ลงรับสมัครเลือกตั้ง เป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ในคราวหรือวาระเดียวกัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.71 ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว รองลงมา ร้อยละ 34.48 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และ ร้อยละ 4.65 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ ขณะที่ ร้อยละ 0.16 ระบุว่า ควรเน้นการพิจารณาประวัติของผู้สมัครเบื้องต้น และควรกำหนดให้ครอบครัวละไม่เกิน 2 คน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ