รัฐบาลแจงใช้คำสั่งทางปกครองฟันทุจริตรับจำนำข้าวไร้อคติ-ให้ความเป็นธรรม

ข่าวการเมือง Monday November 16, 2015 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวว่า รัฐบาลไม่ได้มีอคติหรือต้องการที่จะกลั่นแกล้งใคร แต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยยืนยันให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายที่ถูกกล่าวหา ส่วนกรณีที่รัฐบาลเลือกใช้วิธีการการดำเนินคดีด้วยการออกคำสั่งทางปกครองนั้นเนื่องจากได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีการดำเนินคดีมาแล้วนานกว่า 19 ปี และมีคดีความมากว่า 5,000 คดีที่ใช้ในลักษณะนี้
"นายกรัฐมนตรีต้องการให้สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และขอยืนยันไม่ได้มีอคติใดๆ รัฐไม่ได้เป็นคู่กรณีอย่างที่มีผู้กล่าวหา ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย รัฐทำไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม อย่างไรก็ตามรัฐบาลตระหนักดีเมื่อผู้ถูกกล่าวหาร้องขอความเป็นธรรมเมื่อ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีก็ได้รับแล้ว หรือแม้แต่ข่าวสารที่ให้ข่าวกันตามหน้าหนังสือพิมพ์ รัฐบาลไม่ได้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ก็รับทราบ เพียงแต่สิ่งใดที่เห็นว่าเข้าใจผิด จำเป็นต้องชี้แจง สิ่งใดที่กล่าวหารัฐแล้วปล่อยทิ้งไว้ กล่าวหาว่าไม่ยืนบนหลักนิติธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้ง ซึ่งรัฐรับไม่ได้ต้องออกมาชี้แจง แต่ส่วนที่จะขอความเป็นธรรมเมื่อใช้วิธีที่ 2 ทำให้ตนลำบากยากแค้นอย่างไร เดือนร้อนอย่างไรก็ว่ามา รัฐจะพิจารณาให้" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าว่า วิธีการเรียกรับผิดต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐจนเสียหายต่อราชการและประชาชน โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง สามารถเรียกค่าเสียหายได้ 2 วิธี คือ 1.วิธีตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ การที่รัฐเป็นโจทย์ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่ดำเนินการมาโดยตลอด และ 2.การออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งมีการออกกฏหมายเมื่อปี 2539 คือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งวิธีการที่ 2 ใช้เฉพาะผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น และที่ผ่านมาตลอด 19 ปี มีการใช้กฏหมายฉบับนี้ดำเนินคดีมาแล้วกว่า 5,000 คดี และสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้เป็นเงินหลายพันหรือหลายหมื่นล้าน และเมื่อออกคำสั่งทางปกครอง หากผู้ถูกกล่าวถูกตัดสินว่าผิด และไม่พอใจสามารถนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งศาลได้ ซึ่งรัฐจะกลายเป็นจำเลย และยังสามารถต่อสู้คดีได้ถึงศาลปกครองสูงสุด ซึ่งกว่าคดีความจะแล้วเสร็จอาจใช้เวลา 5-10 ปี และที่ผ่านมาหลายคดีที่ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคดี หรือจ่ายสินไหมทดแทนไม่มากอย่างที่ถูกฟ้องไว้ ซึ่งถือเป็นกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนปกติและรัฐบาลจะเลือกใช้การออกคำสั่งทางปกครองในอีกหลายคดีด้วย

"ทั้ง 2 วิธี เป็นตามกฎหมาย ไม่ใช่วิธีเถื่อน ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ ไม่ใช่วิธีพิเศษที่ปฏิบัติเฉพาะกิจในช่วงคสช.ยันยันรัฐบาลไม่ได้มีอคติ เพราะรัฐไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำเพื่อผลประโยชน์โดยรวม เงินไม่ได้เข้ากระเป๋าผม กระเป๋านายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีว่าผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับความเป็นธรรม ที่ร้องขอความเป็นธรรม นายกฯได้รับหนังสือแล้ว ก็จะเอามาพิจารณาให้ รัฐบาลไม่ได้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แต่เมื่ออะไรที่เข้าใจผิดรัฐบาลไม่สามารถปล่อยหรือให้ถูกมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ได้ ต้องชี้แจง ยืนยันอยู่บนหลักนิติธรรม ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง หรือจองล้างจองผลาญ เพราะมีคนพูดว่าไปจองล้างแล้วในคดีอาญา ให้ติดคุกแล้ว ทำไมต้องจองผลาญเรียกเงินเรียกทองอีกมากมาย เรื่องของเมตตาธรรมเป็นเรื่องที่มองได้ แต่ในแง่กฎหมายความเมตตาธรรมต้องมาที่หลัง กฎหมายต้องเป็นตัวตั้ง ดังนั้นเมื่อ ป.ป.ช.ฟ้องคดีอาญาแล้ว ตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 73/1 หากมีความเสียหายกับรัฐต้องฟ้องทางแพ่งด้วย ไม่ดำเนินการไม่ได้ ก็จะมีความผิดตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้า กลายเป็นผู้ฟ้องจ่ายเงินค่าเสียหายแทน" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า วิธีการเรียกค่าเสียหายทั้ง 2 วิธี มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองวิธีก็ต้องไปตัดสินที่ศาลเหมือนกัน และตั้งแต่มีคำสั่งทางปกครองตั้งแต่ปี 2539 ก็แทบจะไม่มีการใช้วิธีการฟ้องแพ่งปกติกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยอมรับว่า หากใช้วิธีการฟ้องแพ่งปกติในรูปคดีอาจทำให้รัฐเสียเปรียบ และอาจถูกผู้ที่ถูกดำเนินคดีใน 5,000 คดี ก็อาจจะมาร้องขอความเป็นธรรมให้ไปใช้วิธีฟ้องแพ่งธรรมดาได้ ซึ่งในขณะนี้จึงเลือกใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครองจนกว่าจะเห็นว่ามีเหตุผลเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ขั้นตอนการดำเนินการหลัง ป.ป.ช.ส่งเรื่องมากระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์แล้ว ทั้ง 2 กระทรวงได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งผลสอบของกระทรวงพาณิชย์นั้นทางนายกรัฐมนตรีได้ลงนามส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งพิจารณาต่อไปแล้ว เมื่อมีผลออกมาอย่างไร ผู้ถูกกล่าวหาสามารถอุทธรณ์ได้ใน 15 วัน จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาสามารถฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งได้ หากผลออกอย่างไร ผู้ถูกกล่าวหายังอุทธรณ์อีกครั้งกับศาลปกครองสูงสุด

ส่วนผลสอบของกระทรวงการคลังนั้นยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากได้ขยายเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหานำพยานหลักฐานเข้าสืบ เท่าที่ทราบยังมีพยานรอเข้าให้ข้อมูล และหากพยานไม่ว่าง ทางคณะกรรมการฯสามารถขอขยายเวลาได้อีก แต่ต้องเหลือเวลาให้คณะกรรมการเรียกรับผิดทางแพ่งทำงานให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.2560

สำหรับข้อสงสัยว่านายกรัฐมนตรีสังกัดหน่วยงานใดนั้น นายวิษณุ ชี้แจงว่า ความเป็นจริงหากมองทุกรัฐบาล เวลางานพิธีการอยากให้สังเกตชุดปกติขาว ที่ต้องเต็มยศ ไม่ว่าปลัดกระทรวงรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีให้สังเกตที่ปกเสื้อสองข้าง อย่างกระทรวงการคลังข้าราชการทั้งหมดติดตราสัญลักษณ์วายุภักษ์ ขณะที่นายกรัฐมนตรีสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีต้องลงนามในคำสั่งแรกในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน ร่วมกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ขณะที่คำสั่งทางปกครองจะลงนามเพียงรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการกันนายกรัฐมนตรีออกมาเพราะความขี้ขลาด

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินการของรัฐบาลต่อคดีทุจริตจำนำข้าว รัฐบาลไม่ได้ต้องการเบี่ยงเบนประเด็น ไม่ต้องการตอบโต้ให้เกิดความขัดแย้งต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล เพื่อให้ข้อมูลสร้างความเข้าใจต่อสังคมในประเด็นต่างๆ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ขณะที่มีการชี้แจงหลายครั้งจากฝ่ายผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากกฎหมาย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ประชาชนยังไม่คุ้นชิน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีอาจเข้าใจไปเองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกเหนือจากมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีพยายามสร้างความสับสนในสังคม ทำให้เกิดการสร้างวาทะกรรมว่ารัฐบาลได้สร้างนวัตกรรมหรือคิดค้นกฎหมายหมายใหม่ๆ มาดำเนินการในคดีนี้

รายงานข่าว แจ้งว่า การแถลงข่าวของนายวิษณุครั้งนี้ใช้เวลานานถึง 1 ชั่วโมง 35 นาที พร้อมกับการฉาย Power point แสดงขั้นตอนการดำเนินการการเรียกค่าเสียหาย ประกอบการชี้แจง และตลอดการชี้แจงถึงผู้ที่รัฐบาลจะดำเนินการคำสั่งทางปกครองเรียกค่าความเสียหายนายวิษณุได้ใช้อักษรย่อแทนทั้งหมด อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายวิษณุใช้อักษรย่อ "ย."


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ