โพลเผยปชช.64.67% มองปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นคือปมความขัดแย้งทางการเมือง

ข่าวการเมือง Sunday January 17, 2016 11:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง" จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสาเหตุปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.67 ระบุว่า สาเหตุมาจากการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง รองลงมา ร้อยละ 44.36 ระบุว่า สาเหตุมาจากการบังคับใช้กฎหมายหย่อนยานและมีการเลือกปฏิบัติ ร้อยละ 37.73 ระบุว่า สาเหตุมาจากนักการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย แต่ไม่ยอมรับว่าผิด ร้อยละ 31.97 ระบุว่า สาเหตุมาจากการทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการ ร้อยละ 2.00 ระบุว่าสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การแย่งชิงอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน การขัดแย้งผลประโยชน์การแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย และความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน และร้อยละ 2.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่หมดไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.19 ระบุว่า สาเหตุมาจากการแย่งชิงอำนาจกันแบบเอาชนะคะคาน ไม่มีใครยอมถอย รองลงมา ร้อยละ 36.45 ระบุว่า สาเหตุมาจาก ความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม ร้อยละ 28.54 ระบุว่า สาเหตุมาจากการขัดแย้งส่วนตัวของผู้นำและกลุ่มการเมืองต่างๆในสังคม ร้อยละ 10.39 ระบุว่า สาเหตุมาจากการแทรกแซงทางการเมืองจากต่างประเทศ ร้อยละ 1.28 ระบุว่าสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การขัดแย้งผลประโยชน์ทางการเมือง การแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายของคนในชาติ การทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม การเลือกปฏิบัติ ขาดการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ล่าช้า และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อความขัดแย้งในสังคม เป็นผลมาจากการที่ผู้คนที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน มีความคิดเห็นที่ต่างกันในประเด็นว่า การกระทำใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม และการกระทำใดเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ถูกต้อง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.90 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 18.86 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.40 ระบุว่า อื่นๆ เช่น เห็นด้วยเป็นบางเรื่อง อยู่ที่ความคิดเห็นแต่ละคน และร้อยละ 3.84 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อสื่อที่ชอบเสนอข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.91 ระบุว่า เป็นสื่อโซเชียลมีเดีย รองลงมา ร้อยละ 44.92 ระบุว่า เป็นสื่อโทรทัศน์ ร้อยละ 32.21 ระบุว่า เป็นสื่อหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 22.94 ระบุว่า เป็นสื่อวิทยุ ขณะที่ ร้อยละ 3.68 ระบุว่า ไม่มีสื่อใดที่เสนอข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และร้อยละ 2.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งขึ้นเป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างผู้คนหรือกลุ่มคนที่มีอยู่ในขณะนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.42 ระบุว่า เห็นด้วยในการกำหนดกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รองลงมา ร้อยละ 14.71 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 6.87 ไม่ระบุ/ไม่แน่

"นิด้าโพล" ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ระหว่างวันที่ 12 - 14 ม.ค.59 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ