(เพิ่มเติม) โฆษกกรธ. เตรียมหาแนวทางเผยแพร่เนื้อหาร่างรธน.ในประเด็นที่มีการปรับแก้ไปแล้ว

ข่าวการเมือง Wednesday March 2, 2016 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เผยความคืบหน้าการปรับปรุงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราตามข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ ว่า ขณะนี้ กรธ.ได้พิจารณาไปจนถึงหมวด 7 รัฐสภาแล้ว แต่ยังไม่ได้พิจารณาถึงการปรับโครงสร้างทางการเมืองหรือกลไกได้มาซึ่ง ส.ส. และ ส.ว. เพราะมีข้อเสนอที่ต้องพิจารณาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียอีกจำนวนมาก โดยรายละเอียดที่พิจารณาปรับปรุงจะเติมเต็มให้มีความรอบคอบรัดกุม เพื่อให้บทบัญญัตินั้นมีความสมบูรณ์มากขึ้น เช่น มาตรา 139 ว่าด้วยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ห้าม ส.ส., ส.ว. หรือกรรมาธิการที่มีส่วนร่วมในการพิจารณา เสนอแปรญัตติหรือกระทำการใดๆ ที่มีผลทำให้ ส.ส., ส.ว. หรือกรรมาธิการได้รับประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ทั้งนี้มีบทกำหนดให้ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนนร่วมอนุมัติให้การกระทำที่ห้ามดังกล่าว ซึ่งมีข้อท้วงติงว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องนั้นหมายถึงเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณเท่านั้น เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติ แต่ไม่ได้มีความหมายไปถึงเจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างๆ ที่เป็นผู้เสนอโครงการ ดังนั้นในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้จึงได้เขียนถ้อยคำให้ชัดเจน โดยให้หมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้ที่เสนอโครงการมายังหน่วยงานผู้อนุมัติด้วย

สำหรับข้อเสนอให้ปรับกลไกที่มาของ ส.ว.ในระยะเปลี่ยนผ่านช่วงแรกว่า ส่วนตัวยังตอบไม่ได้ และขณะนี้ กรธ.ยังไม่ได้ตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น ส่วนตัวมองในแบบของชาวบ้าน หากจะเขียนกลไกเปลี่ยนผ่านเพื่อควบคุมสถานการณ์ หรือสร้างการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลเพื่อปูทางไปสู่การต่อยอดงาน และเป็นกลไกชั่วคราว หากสามารถอธิบายได้เชื่อว่าจะเกิดความเข้าใจ แต่กรณีที่ถูกมองได้ว่าเป็นการต่อท่ออำนาจนั้น มองว่าต้องมองคนละส่วน เพราะอำนาจปัจจุบันถือเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว และมีอยู่ในฐานะที่เป็นอำนาจแฝง โดยในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. เขียนชัดเจนว่าใครที่หมดหน้าที่แล้วจะไม่มีอำนาจ แต่กรณีของการเป็นอำนาจแฝงในส้งคมนั้น ไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อครอบคลุมไปถึงส่วนดังกล่าวได้

นายชาติชาย กล่าวถึงรายละเอียดที่เป็นประเด็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญซึ่ง กรธ.มีมติปรับแก้ไขไปแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือว่าจะนำเสนอเนื้อหาอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจ เบื้องต้นจะประสานไปยังหนังสือพิมพ์เพื่อขอซื้อเนื้อที่นำเสนอข้อมูลและรายละเอียด เพราะการแถลงข่าวของ กรธ.ที่ทำเป็นประจำนั้น สื่อมวลชนที่ทำข่าวไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาได้ทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่มีจำนวนน้อย

ด้านนายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่ประชุมได้มีการปรับแก้ไขมาตรา 120 เกี่ยวกับเอกสิทธิ์ของ ส.ส. และ ส.ว.ในเรื่องการจับ คุมขัง หรือหมายเรียกระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในสมัยประชุม โดยร่างเดิมศาลจะพิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุมมิได้ โดยเปลี่ยนแปลงเป็นศาลสามารถพิจารณาคดีก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะไม่มีการประชุมสภา

ส่วนประเด็นที่มีการสอบถามเข้ามามากเกี่ยวกับสิทธิของประชาชน ขณะนี้ กรธ.ได้พิจารณาเสร็จแล้ว เชื่อว่าไม่ปลายสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้าจะสามารถเปิดได้ ขณะที่เรื่องที่มาของ ส.ส.และ ส.ว.ได้พิจารณาไปเพียงครึ่งทางเพราะมีการเสนอมาหลากหลายจำนวนมาก แต่คาดว่า กรธ.จะพิจารณาแล้วเสร็จก่อนเดินทางไปประชุมนอกสถานที่ครั้งสุดท้ายที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 23-26 มี.ค.59

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 เกี่ยวกับเกณฑ์การออกเสียงประชามติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความชัดเจนแล้วว่า การนับคะแนนประชามติจะใช้หลักเสียงข้างมาก ถือเป็นเรื่องดีที่จะได้หมดข้อถกเถียงไปเรื่องหนึ่ง ซึ่งจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์

ส่วนประเด็นที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เสนอให้ ส.ว.ชุดแรกมาจากการสรรหา 5 ปี ตลอดจน ส.ว.มีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ในอดีตเคยมีเหตุการณ์แบบนี้ แต่ขณะนี้มองว่ายังไม่มีความจำเป็นถึงจุดนั้น เพราะ กรธ.ยังไม่มีความคิดเรื่องนี้ ขณะที่แนวคิดให้ ส.ว.ชุดแรกมาจากการสรรหา ขณะที่ทาง กรธ.ยังไม่พิจารณา ส่วนเรื่องวิธีคิดต้องไปถามผู้เสนอแนวคิด แต่หากรองนายกรัฐมนตรีมีข้อเสนอมาอีกก็ต้องมีการพูดคุยกัน

ประธาน กรธ. กล่าวว่า สำหรับการซื้อโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ เกิดจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงว่า หากจะให้ กกต.พิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วแจกประชาชนทุกคนจะต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ จึงกำหนดให้ต้องเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนก่อนลงประชามติ กรธ.จึงมีความคิดจะสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเล่มเล็กประมาณ 5-10 หน้า พร้อมวาดการ์ตูนประกอบ แล้วซื้อโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์แนบไปด้วย เพื่อให้ประชาชนพกพาไปอ่านได้ง่าย โดยจะใช้เวลาจัดทำคู่มือนี้ภายใน 15 วัน นับจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายแล้วเสร็จในวันที่ 29 มี.ค.59

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยแนะนำเพิ่มเติมมาว่า ให้นำตัวร่างไปแจกตามหมู่บ้านที่มีอยู่ประมาณ 70,000 แห่ง แห่งละ 5 ฉบับ รวมก็จะพิมพ์เนื้อหาแจก 300,000 กว่าฉบับ กรธ.ก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยการปล่อยให้โหลดผ่านเว็ปไซต์รัฐสภา และตนเองอาจลงพื้นที่ชี้แจงเรื่อง รธน.ด้วยตัวเองด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ