สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติวาระแรก นัดต่อวาระ 2-3 วันที่ 7 เม.ย.

ข่าวการเมือง Friday March 18, 2016 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบกับหลักการร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอด้วยคะแนนเสียง 153 เสียง งดออกเสียง 5 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 21 คน แปรญัตติภายใน 5 วัน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน ภายใน 20 วัน โดยเปิดให้สมาชิก สนช. แปรญัตติภายใน 5 วัน จากนั้น สนช.เตรียมจะพิจารณาวาระที่ 2และวาระที่ 3 ในวันที่ 7 เม.ย.นี้

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาทิ นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รักษาการเลขาธิการ กกต. และตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุมด้วย

นายวิษณุ ชี้แจงว่า หลังจาก สนช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม 2557 ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขณะเดียวกันมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีกฎหมายออกเสียงประชามติ เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2557 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญแม่บท และรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประสงค์ให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับ กกต.ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการออกเสียงประชามติ คาดว่าจะดำเนินการได้ในต้นเดือน ส.ค.นี้ จึงจำเป็นต้องกำหนดกติกา ทั้งคุณลักษณะต้องห้าม วิธีการออกเสียง บัตรลงคะแนน และการนับคะแนน รวมไปถึงกรณีเกิดการขัดขวางการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยไม่เรียบร้อย จึงต้องให้อำนาจ กกต.ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมดนี้ต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย ประกอบกับมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้วางหลักการว่า การกำหนดเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมาย

"ร่าง พ.ร.บ.นี้ กกต.เป็นผู้จัดทำยกร่างขึ้นทั้งหมด ในส่วนของ ครม.เห็นว่า เรื่องนี้มีความเร่งด่วน หากจะต้องรอให้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมออกมาก่อน แต่หากเกิดกระทำที่แม้มีเจตนาดีแต่อาจจะผิดเกิดขึ้นก็ได้ จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำกฎหมายประชามติควบคู่ไปด้วย ซึ่งการเริ่มบังคับใช้ ก็สามารถใช้บังคับจริงได้ เมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้แล้ว" นายวิษณุ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ครม.หวังว่า สนช.ที่มาร่วมเป็นกรรมาธิการฯ หรือบุคคลที่ กกต.เสนอมาเป็นกรรมาธิการ หากร่างกฎหมายได้รับความเห็นในวาระที่ 1 น่าจะช่วยปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ได้ทันกำหนดเวลา โดยแนวคิดการกำหนดหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้นำมาจากหลัก 3 ประการ 1.นำมาจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติปี 2552 แต่จะเอามาใช้ทั้งหมดไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นประชามติเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่มีสาระบางอย่างที่นำมาใช้ได้ 2.นำมาจากประกาศหรือระเบียบที่ กกต.ได้ยกร่างมาก่อนแล้ว สมัยร่างรัฐธรรมนูญนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงได้นำสาระบางส่วนมาปรับปรุงแก้ไข และ 3.การรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนที่ผ่านมาว่า ประสงค์จะเห็นการทำประชามติในรูปแบบใด ซึ่ง กกต.ได้นำทั้งหมดมาประมวลและเขียนเป็นร่าง พ.ร.บ.ออกมา ดังนั้นทาง ครม.จึงต้องนำร่างดังกล่าวมาเสนอต่อ สนช.ให้พิจารณาต่อไป

ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า วิป สนช.ได้กำหนดพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ เพราะเข้าใจความรีบเร่งของรัฐบาลในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวต้องการให้เป็นไปตามโรดแมพ

ส่วนในเรื่องการลงคะแนนเสียงล่วงหน้าสอดคล้องไปตามวันเดียวทั่วราชอาณาจักร รวมถึงประเด็นคูหาคนพิการ ผู้สูงอายุ อยากให้ กกต.ชี้แจงรายละเอียด ส่วนบทกำหนดโทษของผู้ที่รณรงค์เกินข้อเท็จจริงนั้น ไม่ทราบว่า พ.ร.ก.ความมั่นคงในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎหมายควบคุม จะสอดคล้องกันหรือไม่ เพราะไม่ได้เขียนหลักการเหตุผลประกอบมา นอกจากนี้มาตรา 56-66 โดยเฉพาะร่างมาตรา 62 ในวรรคแรก วงเล็บ 1-7 กรณีทำผิดต่างๆ รายละเอียดวรรค 2-6 ระบุไว้สมบูรณ์ แต่ท้ายวงเล็บเจ็ด ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ให้สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอ่านใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ให้ถือว่าผู้นั้นก่อความวุ่นวาย ซึ่งวรรคนี้น่าจะเป็นวงเล็บแปด หรืออีกวรรค หรือผู้ใดกระทำตามกรณีทำผิดลักษณะนี้ เพราะไม่ได้เขียนรายละเอียดบทกำหนดโทษต้องแก้ไขหรือไม่อย่างไร

ด้านนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า สิ่งที่เป็นห่วงในบทลงโทษ ซึ่งเข้าใจห่วงการเลือกตั้งไม่สงบ จึงการกำหนดโทษไว้สูง แม้เห็นด้วยในหลักการ แต่ส่วนตัวข้อตั้งข้อสังเกต เช่น มาตรา 60 เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้ง ประเด็นผู้ใดทำลายบัตรออกเสียง ทำให้ชำรุด มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งห่วงผู้สูงอายุในต่างจังหวัด อาจเผลอทำชำรุดเสียหาย ขณะเดียวกันมาตรา 63 จัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิออกเสียงไปคูหา โดยมีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท ถึง1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหมู่บ้านหนึ่งอาจมีรถไม่กี่คันและอาศัยรถกันไป จึงเป็นห่วงเจ้าหน้าที่จะใช้ดุลยพินิจอย่างไรว่าเป็นการจัดตั้งมาหรือไม่ โทษต่างๆที่กำหนดไว้เห็นว่าส่วนใหญ่ต้องเป็นไปตามนั้น เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านๆมาไม่สงบเรียบร้อย คนส่วนน้อยไปก่อเหตุ ดังนั้นตนเองจึงเห็นด้วย

นายวิษณุ กล่าวในตอนท้ายว่า พ.ร.บ.นี้ใช้สำหรับเหตุการณ์เพียงครั้งเดียว คือ การออกเสียงประชามติ และคงนำไปใช้ต่อเหตุการณ์ในอนาคตยาก แต่ก็ต้องจัดทำเป็นกฎหมายเพราะมาตรา 39/1 ในรัฐธรรมนูญแก้ไขชั่วคราว 2557 กำหนดไว้ ส่วนตัวเชื่อว่า กกต. ในฐานะเจ้าของร่างก็พยายามยกร่างให้ดีที่สุด แต่ด้วยความเร่งรัดของเวลาที่ กกต.มีเวลาเพียง 7 วัน หลังจากสัปดาห์ก่อนที่ สนช.เห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดังนั้นเมื่อ พ.ร.บ.ได้ส่งมายังรัฐบาล แต่จะให้กฤษฎีกาตรวจสอบละเอียดก็ยากเพราะเวลาจำกัด รัฐบาลจึงตัดสินใจส่งมายัง สนช.เพื่อให้มาแก้ในชั้น กมธ. จึงเป็นธรรมดาที่อาจพบสิ่งไม่เหมาะสม หรือข้อบกพร่อง

"ข้อเสนอของ สนช.ในวันนี้จะเป็นแนวทางให้ กมธ.นำไปปรับปรุงแก้ไข เราเคยทำประชามติมาแล้วเมื่อปี 2550 ก็ผ่านมาโดยเรียบร้อยดีไม่มีปัญหาอะไร และเชื่อว่าครั้งนี้ก็น่าจะจัดการทำประชามติได้เช่นเดียวกัน แม้จะมีปัญหาร้ายแรงกว่า 9 ปีที่ผ่านมา" นายวิษณุ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ