กกต.จัดดีเบตร่างรธน.ออกทีวี 10 ชม. 10 ครั้ง เชิญนักวิชาการ-ตัวแทนภาคปชช.ร่วมถก

ข่าวการเมือง Monday July 18, 2016 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยถึงการประสานกับสถานีโทรทัศน์เพื่อจัดเวทีถกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้ทั้งฝ่ายเห็นด้วยกับเห็นต่างถกเนื้อหาช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการทำประชามติ 7 ส.ค.นี้ ว่า ได้หารือกับสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอสว่าจะมีการจัดรายการถกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเผยแพร่ระหว่างเวลา 13.00 น.– 14.00 น. เวลา 1 ชั่วโมงต่อวัน10 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. -5 ส.ค.นี้

นายสมชัย กล่าวอีกว่า การจัดเวทีดังกล่าว กกต. เป็นผู้กำหนดประเด็นเนื้อหาทั้งหมด 10 หัวข้อ ส่วนใหญ่เป็นปัญหากระทบความเป็นอยู่ใกล้ตัวเกี่ยวกับสิทธิที่ประชาชนมีความห่วงใย และเกี่ยวกับการปล่อยข่าวที่เกิดความเข้าใจผิด เช่น บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เบี้ยผู้สูงวัย การศึกษาฟรี 12 ปี การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการรักษาอธิปไตยของชาติ และอาจมีประเด็นการเมืองที่เป็นที่สนใจ เช่น ที่มานายกฯ เป็นต้น

“เราจะให้มีกลุ่มนักวิชาการจากเครือข่าย ไอลอว์ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ มาร่วมเวทีในฐานะที่เป็นผู้เสนอขอให้มีเวทีพูดคุยอย่างเสรี จำนวน 4 ครั้ง เชิญกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนทั่วไปอีก 6 ครั้ง และจะพยายามเชิญตัวแทนจาก กรธ. มาร่วมถกปัญหา ภายใต้บรรยากาศของการพูดคุยกันที่เป็นสาระ ไม่มีการใช้สำนวนตีรวน เอาชนะ ปลุกระดมหรือเอาแต่ความสนุกสนาน แต่เป็นสุภาพชนในฐานะที่แสดงความห่วงใยต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการควบคุมไม่ให้เกิดสภาพฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นเสียงข้างมากรุมอีกฝ่าย และจะเป็นการบันทึกเทปเพื่อเพื่อแพร่ไม่ใช่รายการสดแต่อย่างใด" นายสมชัย กล่าว

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงกรณีการเปิดเวทีอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ว่า นายสมชัย ได้เคยแจ้งให้กับ กรธ.รับทราบแล้วถึงการเปิดเวทีอภิปราย หรือดีเบต เมื่อครั้งที่ได้มาร่วมประชุมกับ กรธ.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นนายสมชัยยังไม่ได้ระบุรายละเอียดว่ารูปของเวทีดีเบตจะมีลักษณะอย่างไร ดังนั้น ตามขั้นตอนคงต้องรอให้ กกต.แจ้งรายละเอียดต่างๆ มาให้ กรธ.อย่างเป็นทางการก่อน จากนั้นทาง กรธ.ถึงจะประชุมและมีความเห็นร่วมกันต่อไป

สำหรับเวทีอภิปรายเชิงวิชาการขององค์กร หรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ หากเชิญไปร่วมแสดงความคิดเห็นหรือให้คำอธิบายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น กรธ.คงจะพิจารณาร่วมกันเป็นรายกรณีไป ขึ้นอยู่กับความเห็นของที่ประชุม กรธ.เพราะที่ผ่านมาเคยมีตัวอย่างในการชูป้ายโหวตโนระหว่างที่ กรธ.ไปร่วมร่วมเวทีอภิปรายเชิงวิชาการที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งก่อนหน้านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ