"ณรงค์ชัย"วิพากษ์ร่าง รธน.ฉบับปี 59 ออกแบบการเมือง Hybrid แถมคำถามพ่วงเลือกให้น้ำหนักเลือกตั้ง-จัดตั้ง

ข่าวการเมือง Thursday August 4, 2016 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) ในฐานะอดีตรัฐมนตรีหลายสมัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ค ระบุร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งจะมีการออกเสียงทำประชามติกันในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับไฮบริด

"ในทางปฏิบัติ การเมืองในประเทศไทยมักจะไม่มีผู้ใช้อำนาจรัฐที่มาจาก Election ล้วนๆ คือมีมาจากการสรรหา แต่งตั้งด้วย เรียกว่า Selection ขอแปลว่าจัดตั้ง โดยบางครั้งเป็นจัดตั้งล้วนๆ และหลายช่วงเวลาเป็นการผสมระหว่าง จัดตั้ง กับ เลือกตั้ง ผมขอเรียกว่าเป็น ระบบผสม หรือ Hybrid ซึ่ง Hybrid นี้ก็จะผสมให้ จัดตั้ง มากกว่าหรือน้อยกว่า เลือกตั้ง ก็แล้วแต่ช่วงเวลา" นายณรงค์ชัย ระบุ

นายณรงค์ชัย ระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่กำหนดให้ประชาชนในชาติ ประพฤติ ปฏิบัติ ในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม จึงจำเป็นต้องให้สมาชิกส่วนใหญ่ของสังคมเห็นชอบกับกติกานี้ ซึ่งจะมีหลายเรื่อง ทั้งสิทธิ หน้าที่ และขบวนการทางการปกครอง ทางกฎหมายต่างๆ มากมาย ที่สำคัญยิ่งคือ กระบวนการที่จะให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) , สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และรัฐบาล ซึ่งก็คือผู้ใช้อำนาจรัฐในทางนิติบัญญัติ และบริหาร

ในฐานะที่ติดตามและบางครั้งเกี่ยวข้องกับระบบบริหารราชการแผ่นดินมากว่า 40 ปี จึงอยากให้ข้อมูลในเรื่องการให้ได้มาซึ่ง ส.ส., ส.ว. และรัฐบาล ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเหมือนและต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าในมิติของรูปแบบผู้บริหารราชการแผ่นดินอย่างไร ตนเองคิดว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุดเพราะกติกาจะดีเลวแค่ไหนอยู่ที่ผู้บริหารกติกา

หลักการสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตย คือ การมีผู้แทนของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอธิปไตย เรียกว่ามี Representation โดย Election คือเลือกตั้ง มีผู้แทนทำงานแทนประชาชน เช่น การออกกฎหมาย การเก็บภาษี ก็ต้องให้ผู้แทนเห็นชอบ ประชาชนจะได้ปฏิบัติตาม จากหลักการนี้ผู้บริหารกติกาต้องมาจากการเลือกตั้ง

หากย้อนอดีตไปปี 2500 ที่มีการปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ เราก็มีรัฐบาลจาก Selection อยู่นานถึง 17 ปี (ยกเว้นช่วงสั้นๆ) จนผ่านรัฐบาลจอมพลถนอมปี 2516 รัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็เป็น Selection จากปี 2517-2522 หลายรัฐบาลเป็น Hybrid ที่ ส.ส.มาจาก Election และ ส.ว.มาจาก Selection นายกรัฐมนตรีมีทั้งที่เป็นและไม่เป็น ส.ส. สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ปี 2523-2531 ก็เป็น Hybrid ถึงรัฐบาลพลเอกชาติชายแม้จะเป็น Hybrid เพราะ ส.ว.มาจาก Selection แต่ก็เป็นทาง Election มากกว่า เพราะพลเอกชาติชายเป็น ส.ส. จนมาถึงปีที่เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 จากนั้นเราเป็น Election เต็มตัว ทั้ง ส.ส., ส.ว. และ นายกรัฐมนตรี แล้วต่อมาก็มีการแก้ที่มาของ ส.ว.อีกในรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้มีทั้งเลือกตั้งและแต่งตั้ง

"ท่านประชาชนผู้อ่าน คิดย้อนอดีตเองก็แล้วกันนะครับว่าช่วงที่เรามีรูปแบบการเมืองต่างๆในอดีต ทั้งแบบ จัดตั้ง เลือกตั้ง และ Hybrid สถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร ผมรวบรวม Timeline ของการเมืองไทยมาให้ท่านได้ดูด้วย" นายณรงค์ชัย ระบุ

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เราจะลงประชามติกันวันที่ 7 ส.ค.นี้ ออกแบบมาให้เป็นการเมืองแบบ Hybrid โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบทเฉพาะกาล เริ่มตั้งแต่ที่มาของ ส.ส.มีจำนวน 500 คน เป็น ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน มีการกำหนดวิธีการเลือกตั้ง (มาตรา 87-91) โดยให้ความสำคัญของคะแนนเสียง คือเอาประชาชนที่ไปลงคะแนนทั้งหมดหารด้วย 500 ก็จะได้คะแนนเสียงเฉลี่ยต่อ 1 ส.ส. แล้วก็เอาคะแนนเสียงเฉลี่ยนี้ไปหารจำนวนคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับก็จะได้จำนวน ส.ส.ที่พรรคควรจะได้ ทีนี้ก็มาดูว่าพรรคนั้นได้ ส.ส.เขตจำนวนเท่าไร ถ้าไม่ถึงก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามสัดส่วนของคะแนนเสียง ถ้าถึงหรือเกินก็จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเอา ส.ส.บัญชีรายชื่อไปเฉลี่ยให้พรรคอื่นๆตามอัตราส่วน วิธีการนี้พรรคที่ได้ ส.ส.เขต น้อยกว่าจำนวน ส.ส.ที่ควรได้ ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น สรุปคือ ส.ส.มาจาก Election แน่นอน และให้ประโยชน์กับทุกคะแนนเสียง

ส่วน ส.ว.ตามมาตรา 107 มีจำนวน 200 คน เป็นการคัดสรร คือเป็นผู้แทนของกลุ่มอาชีพ เรียกว่าเป็น Representation แต่ไม่ใช่จากประชาชนโดยตรง สำหรับห้าปีข้างหน้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จึงมีบทเฉพาะกาล โดยในบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ให้มี ส.ว.รวม 250 คน โดย 50 คนมาจากการสรรหาโดยกลุ่มอาชีพก่อนจำนวน 200 คน ตามมาตรา 107 แล้ว คสช. เลือกเหลือ 50 คน อีก 200 คน จะมีขบวนการสรรหาต่างหาก 400 คน ให้ คสช. เลือกเหลือ 200 คน ดังนั้นตามบทเฉพาะกาล ส.ว.เป็น Selection เป็นการจัดตั้ง

ทีนี้มาถึงการเลือกนายกรัฐมนตรี (นรม.) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตามมาตรา 88 ให้พรรคการเมืองระบุชื่อไม่เกิน 3 ชื่อว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าพรรคมีคะแนนเสียงพอจัดตั้งรัฐบาลก็เสนอนายกรัฐมนตรีตามชื่อ (มาตรา 159) แต่ไม่ได้บอกว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ในทางปฏิบัติพรรคก็คงใช้ชื่อ ส.ส.อย่างไรก็ตามถือว่ามีความเป็น Representation อยู่

ในกรณีที่ ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ บทเฉพาะกาลมาตรา 272 เขียนไว้ว่า ให้ ส.ว.ร่วมเลือกได้ แต่ต้องได้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส.รวมกับ ส.ว.หรือ 750 คน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้นายกรัฐมนตรีก็อาจจะไม่ได้มาจาก ส.ส.ก็ได้ คืออาจจะมาจากการเลือกตั้ง หรือจัดตั้ง แล้วแต่สถานการณ์

เรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีที่กำหนดเป็นสองขั้นตอน คือ จากสภาผู้แทนก่อน ถ้าไม่สำเร็จให้เป็น ส.ส.กับ ส.ว.เลือก ทำให้เกิดคำถามพ่วงขึ้นมาว่า ในห้าปีจากนี้ให้ ส.ว.ร่วมกับ ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรีเสียเลยจะดีไหม

สรุปสุดท้าย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างการเมืองแบบ Hybrid คือทั้งเลือกตั้ง+จัดตั้ง เป็นรูปแบบที่คณะกรรมการยกร่าง เห็นว่าเหมาะสมกับรูปแบบสังคมการเมืองของไทยในปัจจุบัน หมายถึงในห้าปีข้างหน้า และ สนช.ยังแถมคำถามพ่วงมาด้วย เพื่อให้ประชาชนตัดสินว่ารูปแบบ Hybrid นี้ อยากจะเน้นการจัดตั้ง หรือการเลือกตั้ง

"ท่านประชาชนจะลงคะแนนอย่างไรเป็นสิทธิของท่านครับ ทั้งสิทธิในการออกเสียงประชามติ และการตอบคำถามพ่วง สิทธินี้กำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้ในปัจจุบัน" นายณรงค์ชัย ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ