(เพิ่มเติม) ประธาน กรธ.ระบุ"ประยุทธ์"รับร่าง รธน.ส่งสัญญาณบวก แจงข้อข้องใจสื่อช่วงโค้งสุดท้าย

ข่าวการเมือง Friday August 5, 2016 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงถือเป็นสัญญาณบวก

"เป็นสัญญาณบวก บวก infinity และจะเป็นข้อดีไม่ให้ใครนำไปบิดเบือน...การที่ท่านนายกฯออกมาใช้สิทธิในฐานะประชาชน มันก็ทำให้เราอุ่นใจว่าไม่มีใครไปบิดเบือน เพราะมีคนไปบิดเบือนแล้วว่านายกฯสั่งสนช. ไม่ให้รับ ผมไม่รู้ว่ามาจากใคร ผมก็นั่งกังวลใจ เมื่อท่านนายกฯออกมาพูดว่าตัวท่านเองจะรับ ดังนั้น ท่านจะไม่มีวันไปสั่งใครเขาหรอก ช่วยทำให้ความกังวลนั้นหมดไป"นายมีชัย กล่าว

ส่วนเมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศแล้วจะช่วยทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติหรือไม่นั้น นายมีชัย กล่าวเพียงว่า "ล็อตเตอรี่ยังไม่ออก คงไปพูดอะไรไม่ได้" แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ก็คงต้องถือว่าทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว และจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกต่อไป ส่วนจะเป็นแพะหรือไม่ คงจะไปคาดการณ์ไม่ได้

"เราทำดีที่สุดแล้ว ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน จะรับหรือไม่รับก็เป็นสิทธิของประชาชน เพราะฉะนั้น เราไม่มีสิทธิที่จะต้องไปแสดงความรู้สึกอะไร ความรู้สึกถ้าจะมี ต้องมีตอนที่เราทำว่าต้องทำให้มันดีที่สุด ถ้าปล่อยปะละเลยไม่ได้ทำให้ดีที่สุด อย่างนั้นเราค่อยเสียใจ แต่ว่านี่เราทำดีที่สุดแล้ว"

นายมีชัย กล่าวอีกว่า การทำงาน กรธ.มีอิสระอย่างเต็มที่ แต่การทำงานของ กรธ.ทั้ง 21 คนก็ยังต้องฟังเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายแล้วนำมารวบรวมประมวลกันเพื่อนำไปปรับปรุง และกรอบตามที่ รธน.ชั่วคราวระบุไว้ ซึ่งจะเห็นว่าจากร่าง รธน.ครั้งที่สองหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วได้ปรับเปลี่ยนไปจากร่าง รธน.ครั้งแรกราว 1 ใน 3 หรือราว 80 มาตรา

"ถ้าความเป็นอิสระคือไม่ถูกใครสั่ง ขอยืนยันว่าเป็นอิสระ 100% แต่ กรธ.ทั้ง 21 คนต้องฟังเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายแล้วนำมาประมวลความคิดเห็นเพื่อปรับปรุง ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาถูกใจผมสัก 90% แต่ส่วนที่ปรับเปลี่ยนไปนั้นเพราะ กรธ.เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่มีเหตุผลและไม่มีผลกระทบต่อบ้านเมือง"นายมีชัย กล่าว

ส่วนแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นบรรทัดฐานของการตรากฎหมายต่างๆ ในอนาคตที่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ขณะที่รัฐธรรมนูญไม่สามารถบรรจุทุกเรื่องเอาไว้ แต่ภายภาคหน้าหากฝ่ายบริหารเห็นว่ามีเรื่องใดที่จำเป็นต้องตรากฎหมายออกมาบังคับใช้ก็สามารถทำได้เพียงแต่ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

"ทุกคนมีส่วนได้เสียตาม รธน.แตกต่างกันไป อย่าไปห่วงคนอื่น ขอให้ดูแลเรื่องประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นสำคัญ" นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวตอบข้อซักถามสื่อมวลชนในช่วงโค้งสุดท้ายการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ ว่า โดยยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีเนื้อหาแตกต่างไปจาก รัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลตามที่มีผู้กล่าวหาว่าได้ตัดสิทธิบัตรทอง เพราะสิทธิดังกล่าวยังเป็นไปตามเดิม

อย่างกรณีการรับการบริการสาธารณสุขในรัฐธรรมนูญปี 40 เขียนว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะที่ในปี 50 ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

"แต่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้เพิ่มเติมว่าให้ปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการและการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพสะดวกทัดเทียมกัน นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญพูดถึงเรื่องบัตรทอง ซึ่งอยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพ การเขียนอย่างนี้แปลว่าจะมีอยู่ต่อไป ไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลอีกแล้ว และต้องทำให้มันดีขึ้น ดังนั้น คนที่ไปปล่อยข่าวว่าบัตรทองจะหายนั้น ถ้าไม่ใช่เพราะเข้าใจผิดก็คงเป็นการโกหก"นายมีชัย กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า ก่อนหน้านี้ กรธ.เคยระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องบัญญัติเรื่องการนิรโทษกรรมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอาไว้ เพราะมีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แต่ทำไมถึงต้องนิรโทษกรรม คสช.ในมาตรา 279 นายมีชัย อธิบายว่า "เมื่อตอนที่ออกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 ได้มีการนิรโทษกรรมการกระทำของคสช.ไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 ยังได้ให้อำนาจ คสช.ดำเนินการต่อมา โดยยังมีอำนาจตามมาตรา 44"

ต่อข้อถามว่าเมื่อรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแล้ว คำสั่ง คสช.ที่ออกมาจะกลายเป็นกฎหมายหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนใหญ่ก็จะถูกกำหนดเป็นกฎหมาย เพราะหากอยู่ๆ หายไปก็จะทำให้สิ่งที่เคยสั่งห้ามหรือวางกฎเกณฑ์กติกาไว้ก็จะไปหมด เหมือนกับการปฏิวัติทุกครั้งที่จะต้องเขียนรองรับคำสั่งคณะปฏิวัตินั้นเอาไว้ แล้วขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่จะเข้ามา หากเห็นว่าเรื่องใดหมดความจำเป็นก็ไปออกพระราชบัญญัติแก้ไข

นายมีชัย กล่าวอีกว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 จะหมดไป เพราะถูกแทนที่โดยรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนคำสั่งคสช.ใดเป็นคำสั่งบริหาร จะเหมือนกับคำสั่งนายกรัฐมนตรี หากคิดจะแก้ไขก็ต้องออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือออกพระราชบัญญัติในกรณีที่ต้องการแก้ไขคำสั่งคสช.

ต่อข้อถามถึงสาเหตุที่ต้องให้มีผู้นำเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหมรวม 6 คนเป็น ส.ว.สรรหาในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนั้น นายมีชัย กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุเภทภัยในบ้านเมือง บุคคลทั้ง 5-6 คนนี้จะต้องเป็นผู้ดูแลรักษาความสงบ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาปฏิวัติรัฐประหารกันอีก แต่เปลี่ยนมาเป็นการคุยกันในวุฒิสภา

"เราเคยถามว่าถ้าคิดว่าจะตั้งคนเหล่านี้เพราะเขามีคุณสมบัติก็ตั้งไปโดยไม่ต้องระบุตำแหน่งได้หรือไม่ เขาก็บอกว่าไม่งั้นมันเวลาเปลี่ยนตำแหน่งแล้วมันไม่ตามมา เราก็คิดว่าถ้าคนเหล่านี้ไปพูดคุยกันรู้เรื่องและแก้ไขปัญหาการเมืองได้ มันจะได้ไม่เกิดปัญหาในช่วงระยะ 5 ปีที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ฟังดูมันก็มีเหตุผล เราไม่มีเหตุอะไรต้องขัดใจ" นายมีชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ