สนช.นัดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 60 วาระ 2 และ 3 วันที่ 8 ก.ย.นี้

ข่าวการเมือง Tuesday September 6, 2016 10:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมนัดประชุมวันที่ 8 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. โดยจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 2.733 ล้านล้านบาท เป็นรายมาตราในวาระที่ 2 และเห็นชอบในวาระที่ 3 ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 ได้พิจารณาเสร็จแล้ว

ทั้งนี้ จากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ระบุว่า ได้มีการเพิ่มงบประมาณจำนวน 19 รายการ รวมเป็น 17,980 ล้านบาท เช่น งบกลาง เพิ่มขึ้น 5,097 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ งบกระทรวงกลาโหม เพิ่มขึ้น 220 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังผลและยุทโธปกรณ์ในการปกป้องอธิปไตยและการรักษาความมั่นคงภายในของประเทศในความรับผิดชอบของกองทัพบก

หน่วยงานรัฐสภา เพิ่มขึ้น 128 ล้านบาท แบ่งเป็น สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพิ่มขึ้น 66 ล้านบาท เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการให้ความรู้ ,การสื่อสาร, การประชาสัมพันธ์, การสร้างภาพลักษณ์ รวมไปถึงส่งเสริมความสัมพันธ์กับองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มขึ้น 62 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลและพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ และการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ด้านการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมกับการปฏิรูปประเทศไทย

พร้อมกันนี้ ในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอต่อภาพรวมของงบประมาณประจำปี 2560 พอสังเขปดังนี้ 1.การปฏิรูประบบการจัดทำงบประมาณในปีงบประมาณ 2560 หน่วยงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานมากขึ้น แต่มีบางหน่วยงานที่ยังคงใช้การจัดทำงบประมาณแบบเดิม ไม่มีเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน

ทั้งนี้ กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ จะต้องมีการพิจารณาทบทวนการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และตัวชี้วัดขอกระทรวงและหน่วยงานให้สะท้อนถึงความสำเร็จของงานและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง สามารถเชื่อมโยงไปสู่เป้าหมาย Thailand 4.0 โดยให้ความสำคัญกับตัวชี้วัด สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

2.องค์การมหาชน หน่วยงานในกำกับ หน่วยงานอิสระของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีเงินรายได้ ต้องมีการจัดทำแผนการใช้จ่ายที่ครอบคลุมแหล่งเงินนอกงบประมาณ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงิน และมีการตรวจสอบข้อมูลสถานะการเงินอย่างเข้มงวด เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี

3.สำหรับกรณีองค์การมหาชนบางแห่งที่มีภารกิจซ้ำซ้อน หรือมีการภารกิจมี่มีลักษณะคล้ายคลึงกับรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่น หรือภารกิจหมดความจำเป็นแล้ว หรือเป็นภารกิจที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องพิจารณาทบทวน ตรวจสอบ และประเมินศักยภาพองค์การมหาชน ตามระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานว่าหน่วยงานนั้นๆ ควรดำเนินการต่อตามสถานภาพเดิมหรือยุบรวมไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานหลัก หรือบยุบเลิกองค์กร

รวมทั้งพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์แนวทางการใช้เงินงบประมาณขององค์การมหาชนให้เทียบเคียงกับส่วนราชการ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกัน

4.หน่วยงานของศาล และหน่วยงานอิสระของรัฐ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบกำกับและควบคุมหน่วยงานอื่นๆ ไม่ควรจัดทำหลักสูตรโครงการฝึกอบรมที่นำบุคลากรในองค์กรของตนมาอบรมร่วมกับข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ได้ รวมทั้งให้ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการพัฒนาบุคลากรภาครัฐโดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงานต่างๆโดยเคร่งครัด

5.ค่าใช้จ่ายการจัดฝึกอบรม สัมมนา ต้องกำหนดแผนการดำเนินงานให้ชัดเจน ทั้งจำนวนคน หลักสูตร และระยะเวลา รวมทั้งการกำหนดตัวชี้วัดของหลักสูตร ต้องตอบสนองต่อภารกิจหลักของหน่วยงานเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

6.ค่าใช้จ่ายการประชาสัมพันธ์ ต้องดำเนินการเฉพาะภารกิจหลักของหน่วยงาน โดยใช้สื่อที่ผ่านหน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ของรัฐเป็นลำดับแรก ใช้วิธีการที่ประหยัด และให้ประชาชนเข้าถึงโดยง่าย เช่น สื่อออนไลน์ต่างๆ และเว็บไซต์ของหน่วยงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการประชาสัมพันธ์ สำหรับการจัดทำแผ่นพับเพื่อแจกจ่าย ควรพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์เป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ