กกต.แจงรายละเอียดร่างกม.เลือกตั้ง ส.ส. พร้อมส่งกรธ.วันนี้ ยันไม่เสนอใบดำ แต่ให้เป็นอำนาจศาลพิจารณา

ข่าวการเมือง Friday September 16, 2016 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฉบับใหม่ที่ กกต.ได้พิจารณาแล้วเสร็จ และส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาได้ในวันนี้

ในส่วนของวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง กกต.ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำป้ายที่จะใช้ในเขตเลือกตั้งจำนวน 200 บอร์ด เพื่อให้ผู้สมัครนำป้ายและนโยบายไปติดให้สาธารณรับทราบ เป็นการช่วยหาเสียงและไม่ให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบของการทำป้ายหาเสียงระหว่างพรรคการเมืองขนาดเล็กกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ โดยเป้าหมายสำคัญเพื่อไม่ให้การเลือกตั้งเป็นการใช้ทุนจำนวนมาก นอกจากนี้ กกต.เขต จะทำรายชื่อผู้สมัครและนโยบายของแต่ละพรรคเป็นรูปเล่ม ส่งไปตามบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลจากที่บ้านได้

ขณะที่การหาเสียงเชิงนโยบายนั้น กกต.จะจัดสรรเวลาออกอากาศผ่านทางสื่อสารมวลชน โดย กกต.จะมีงบประมาณให้ดำเนินการ และหากพรรคการเมืองใดที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเกินกว่า 50% ของเขตเลือกตั้งทั้งประเทศ จะได้รับการจัดสรรเวลาช่วงไพร์มไทม์ในการเผยแพร่หรือดีเบตนโยบายผ่านสื่อสารมวลชน ดังนั้นหากพรรคใดได้รับความนิยมจะได้รับประโยชน์ และยังคงรูปแบบที่ให้หัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคแถลงนโยบายผ่านสื่อโทรทัศน์ตามที่เคยปฏิบัติมา

ส่วนการสมัครรับเลือกตั้งนั้น จะมีการเพิ่มค่าสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเป็น 10,000 บาท เนื่องจาก กกต.จะต้องทำป้ายสำหรับให้ผู้สมัครติดเอกสารแนะนำตัว โดยแบ่งเป็น 5,000 บาท เก็บเข้ากองทุนพัฒนาพรรคการเมือง และอีก 5,000 บาท ใช้ในการดำเนินการหาเสียง ทั้งนี้หากผู้สมัครรายใดได้คะแนนมากกว่า 5% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นจะได้รับเงิน 5,000 บาทคืน และผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละพรรคจะใช้เลขหมายเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งตัวแทนพรรคจะทำการจับสลากหมายเลขภายหลังปิดการรับสมัคร

สำหรับการลงคะแนนและการนับคะแนน จะมีการเพิ่มช่องทางและวิธีการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในบางประเทศ และการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าขยายเวลาถึง 18.00 น. ส่วนการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ จะหยุดการรายงานผลเมื่อมีผลการนับคะแนนไม่เกิน 95% ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด

ส่วนการคำนวณ ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสมจะยึดตามรัฐธรรมนูญกำหนด แต่ที่จะมีปัญหาคือในส่วนของการปรับสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้อยู่ในกรอบ 150 คน ตามเจตนารมณ์ของ กรธ.ใช้วิธีการเทียบบัญญัติไตรยางค์ ทั้งนี้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออาจมีการเปลี่ยนแปลง กรณี กกต.ยังไม่ประกาศผลในส่วน 5% ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดภายใน 1 ปี ซึ่งหากมาคำนวณในภายหลังอาจทำให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไปแล้วและอยู่ในลำดับท้ายๆ ต้องหลุดออกจากตำแหน่ง แต่ถ้าพ้นระยะเวลา 1 ปี ไปแล้วจะไม่มีการคำนวณแต่อย่างใด

ส่วนการประกาศผลการเลือกตั้ง จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน โดยการประกาศผลครั้งแรกให้กกต.ประกาศผลไม่น้อยกว่า 95% ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด และรัฐสภาจะดำเนินการประชุมครั้งแรกภายใน 15 วัน เพื่อให้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี แต่หากเกิดเหตุที่ไม่ปกติ เช่น มีการปิดหน่วยเลือกตั้งจะใช้วิธีแก้ไข คือ ให้ กกต.สามารถแก้ไขวันเลือกตั้ง แต่หากหน่วยเลือกตั้งเกิน 95% จัดการเลือกตั้งไม่ได้ก็ให้เลื่อนวันเลือกตั้งใหม่ได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 30 วัน

สำหรับการดำเนินการกรณีมีการเลือกตั้งไม่สุจริตนั้น ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง กกต.สามารถสั่งระงับสิทธิรับสมัครหรือใบส้มได้เป็นเวลา 1 ปี โดย มติกกต.ถือเป็นที่สุด พร้อมกับสั่งเลือกตั้งใหม่ได้ หลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง กกต. สามารถเสนอให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือใบแดง มีระยะเวลา 5-10 ปี แล้วแต่ฐานความผิด

ส่วนกรณีเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือใบดำนั้น มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและยอมรับว่าควรจะมีบัญญัติไว้ในร่างพ.ร.ป.ดังกล่าว แต่เนื่องจาก กกต.เห็นว่ายังมีความไม่ชัดเจนว่า กรธ.มีเจตนาที่จะให้หมายถึงความผิดลักษณะใดบ้าง จึงยังไม่มีการกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ในร่างพ.ร.ป. แต่จะมีข้อสังเกตและไปหารือกับกรธ.ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ซึ่งเดิมคณะทำงานคิดว่าจะนำโทษตามมาตรา 53 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2554 ไปใส่ไว้เป็นลักษณะความผิดที่จะเข้าข่ายใบดำ แต่ยังไม่ชัดเจน เพราะการจำแนกโทษระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกับการเพิกถอนสิทธิรับสมัครนั้นเป็นไปได้ยาก อีกทั้งอำนาจในการร่างกฎหมายลูกเป็นของกรธ. จึงอยากหารือเพื่อหาความชัดเจนก่อน และให้กรธ.เป็นผู้กำหนดลักษณะความผิดที่จะเข้าข่ายใบดำไว้ในกฎหมายลูกเอง

"ยอมรับว่าหากไม่มีการกำหนดในทางปฏิบัติเมื่อเกิดการทุจริต และกกต.ต้องเสนอต่อศาลเพื่อให้ลงโทษ กกต.ต้องระบุว่าจะให้ศาลลงโทษความผิดใด ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิรับสมัคร แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะโดนโทษใดตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 98 (11) ที่กำหนดว่าผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าทุจริตเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองและกรรมการองค์อิสระตลอดไป" พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการกำหนดระดับความผิดกระทำทุจริต กกต.กำหนดเพียงใบเหลือง ใบแดง และใบส้มเท่านั้น ส่วนใบดำถือเป็นบทบัญญติที่กำหนดไว้ในรัฐธรมนูญ และหาก กกต.จะยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณาจะยื่นในฐานความผิดของใบแดงเท่านั้น ส่วนศาลจะพิจารณาอย่างไรถือเป็นอำนาจของศาล

"เราชงใบแดงเรื่องทุจริตเลือกตั้ง ถ้าเป็นใบแดงถือเป็นใบดำโดยอัตโนมัติ แต่ใบดำเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ"นายสมชัย กล่าว

พร้อมระบุว่า กระบวนการพิจารณาใบเหลือง, ใบส้ม, ใบแดง จะต้องมีการสอบพยานหาหลักฐาน ทั้งวัตถุพยานและพยานบุคคล และเก็บข้อมูลในพื้นที่ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ

อย่างไรก็ดี การที่ กกต.นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลกระทบต่อคนหลายฝ่าย ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าเป็นผลดีต่อประเทศหรือไม่ และข้อเสนอที่ กกต.ส่งให้ กรธ.พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยขออย่ามองเพียงแค่ประโยชน์ของพรรคการเมืองฝ่ายเดียว แต่ให้มองประโยชน์ที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย ข้อเสนอ กกต.เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการต่อยอดความคิดต่อไป

สำหรับการกำหนดนโยบายพรรคการเมืองนั้น นายสมชัย ยืนยันว่าไม่ใช่เข้าไปเซ็นเซอร์ หรือปิดกั้นการทำนโยบายของพรรคการเมือง ทั้งนี้มีข้อกำหนดให้การนำเสนอนโยบายต้องระบุถึงงบประมาณ, ที่มา, ระยะเวลาดำเนินการ, ผลประโยชน์, ความคุ้มค่า และผลกระทบและความเสี่ยงของนโยบาย ซึ่งเห็นว่าควรส่งมาภายใน 7 วันก่อนการเลือก ซึ่งกกต.จะนำไปประกาศต่อสาธารณะให้ประชาชนรับรู้ หากไม่ส่งมายัง กกต.ก็จะไม่สามารถนำไปใช้หาเสียงได้ และหากนำไปหาเสียงโดยไม่ส่ง กกต.ก่อน ถือว่าไม่ปฏิบัติตามและอาจถูกฟ้องคดีอาญากับบุคคลหรือกรรมการบริหารพรรคได้

ส่วนกรณีของนโยบายที่อาจเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัตินั้น ทาง กกต.จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่หากเป็นประเด็นที่กระทบสถาบันหรือความมั่นคงต้องไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ประกอบด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะนำเสนอให้ กรธ.ได้พิจารณาในวันที่ 21 ก.ย. ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะส่งให้ กรธ.ในวันที่ 27 ก.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ