มินิคาร์บิเนต เตรียมเสนอตั้งบอร์ดนโยบายพัฒนาอุตฯอากาศยาน พร้อมลงทุนกว่า 4 แสนลบ.พัฒนาสนามบิน-รองรับผู้โดยสารในอีก 10 ปี

ข่าวการเมือง Monday March 6, 2017 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ หรือ มินิคาร์บิเนต ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานตามมติคณะรัฐมนตรี และให้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับหมายหมายเป็นประธาน มี รมว.คมนาคม, รมว.อุตสาหกรรม, สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นเลขานุการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ โดยจะดูแลการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ ทั้งในเรื่องของการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ การซ่อมสร้างอากาศยาน ซึ่งโครงสร้างคณะกรรมการทั้งหมดจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งในสัปดาห์หน้า และเตรียมเสนอแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยมีแผนการพัฒนาสนามบิน ระบบการขนส่ง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน ซึ่งการพัฒนาสนามบิน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ พัฒนาสนามบินหลัก 3 แห่ง สนามบินภูมิภาค 10 แห่ง และสนามบินระดับจังหวัด 26 แห่ง ส่วนแผนลงทุนในอีก 10 ปีข้างหน้า แบ่งเป็นใน 3 สนามบินหลัก มีแผนลงทุน 3.2 แสนล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 78 ล้านคน เป็น 160 ล้านคนต่อปี สำหรับแผนลงทุนสนามบินขนาดกลาง มีแผนลงทุน 7 หมื่นล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 35 ล้านคน เป็น 89 ล้านคนต่อปี และแผนลงทุนสนามบินขนาดเล็ก มีแผนลงทุน 1.6 หมื่นล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 17 ล้านคน เป็น 28 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะทำให้ดูแลนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นรวมจาก 130 ล้านคนเป็น 277 ล้านคนต่อปี

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มีมติให้เอกชนสามารถเข้ามาบริการจัดการ หรือพัฒนาเป็นการเฉพาะ เช่น การโรงเรียนฝึกบิน หรือศูนย์ซ่อมอากาศยานในสนามบินขนาดเล็กได้ด้วย

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอากาศยานจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยประเมินว่า ในปี 2578 จะมีการจ้างงานเพิ่มเป็น 3.8-4 ล้านคน ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะมีอัตราการเติบโตในด้านการใช้อากาศยานเพิ่มขึ้นกว่า 12,820 ลำ จึงถือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้พัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาค

สำหรับการพัฒนาการขนส่งสินค้า ที่ประชุมฯ พิจารณาให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลอดใบอนุญาต โดยจะต้องมีการแก้ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการมี พ.ร.บ.พิเศษเขตศุลกากร เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าใน CLMV โดยตั้งเป้าขยายการขนส่งสินค้า เพิ่มจาก 1.3 ล้านตัน ขยายได้ 3 ล้านตันต่อปี และเน้นการทำธุรกิจแบบใหม่ มีการใช้ระบบอิคอมเมิร์ช เพื่อกระจายสินค้าลูกค้ารายย่อยมากขึ้น

ส่วนการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทยจะมีการขยายให้สนามบินอู่ตะเภา เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในเอเชีย โดยจำเป็นต้องมีการแก้ พ.ร.บ.การเดินอากาศ เพื่อเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในด้านนี้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ