กรธ. มีมติไม่ตั้งกมธ.ร่วมแก้กม.ศาลรัฐธรรมนูญ-ไม่มีความเห็นแย้ง สนช.

ข่าวการเมือง Wednesday December 6, 2017 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบและแก้ไขเนื้อหาแล้ว โดยที่ประชุม กรธ.มีความเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ เพราะ กรธ.ไม่มีความเห็นอะไรเพิ่มเติมและไม่มีความเห็นแย้งกับ สนช.

ที่ผ่านมาตัวแทนจาก กรธ.ที่เข้าร่วมเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงแถลงเหตุผลและข้อห่วงกังวลในประเด็นต่างไว้ชัดเจนแล้วในระหว่างการพิจารณาในชั้น กมธ.และในการพิจารณาของที่ประชุม สนช.ในวาระที่ 2 และ 3 อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 1/2560 ลงวันที่ 5 ก.ย. ในกรณีที่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำรงตำแหน่งต่อไปนั้น ศาลวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระขึ้นกับการพิจารณาของ สนช. เนื่องจากในมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุให้ การดำรงตำแหน่งของกรรมการองค์กรอิสระเป็นตามกฎหมายลูกนั้น ไม่ได้ระบุข้อจำกัดเรื่องเวลาวาระดำรงตำแหน่ง คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามเอาไว้ ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันต่อทุกองค์กร

นายอุดม กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยกรณีของผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งผลให้ 5 ตุลการศาลรัฐธรรมนูญได้อยู่ต่อนั้นเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนจนส่งผลต่อการยอมรับหรือไม่ และทั้ง 5 คนสามารถลาออกได้หรือไม่ว่า คงพูดแบบนั้นได้ยาก เพราะตุลาการทั้ง 9 คน ที่วินิจฉัยไม่ใช่เนื้อเดียวกันทั้งหมด ส่วนหนึ่งพ้นวาระแล้ว แต่อีกส่วนก็คุณสมบัติครบ ส่วนการพิจารณาของ สนช.ก็มีผู้อภิปรายให้ตุลาการ 5 คนอยู่ต่อไป แล้วให้สรรหาเมื่อมีสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่นั้น ก็เพื่อให้ได้รับการยอมรับ เพราะเมื่อถึงตอนนั้นจะมีประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา และผู้นำฝ่ายค้าน ร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาด้วย ส่วนการลาออกนั้น ก็ไม่ได้มีกฎหมายอะไรห้ามไม่ให้ลาออก

สำหรับเนื้อหาที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญออกมาตรการชั่วคราวหรือคำบังคับนั้น นายอุดมกล่าวว่า กรธ.พิจารณาแล้วเห็นว่า การออกมาตรการชั่วคราว และคำบังคับ มีทั้งข้อดีและข้อที่สุ่มเสี่ยง ข้อดีคือในเนื้อหากำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและสถานการณ์ทางการเมือง ก่อนออกมาตรการชั่วคราวหรือคำบังคับ แม้จะมีข้อห่วงกังวลว่า การใช้อำนาจนี้ของศาลรัฐธรรมนูญนี้ จะส่งผลกระทบทางการเมือง แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง สนช.ที่พิจารณาก็มีมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากไปแล้ว จึงเป็นบททดสอบที่สำคัญสำหรับศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ทางการเมืองด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ