ที่ประชุม สนช.อภิปรายกม.ลูกส.ส. เสียงแตกปมขยายเวลา 90 วัน-กกต.ชี้ 90 วันเหมาะสม

ข่าวการเมือง Thursday January 25, 2018 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยประเด็นสำคัญ คือการพิจารณาวาระ 2 โดยเฉพาะมาตรา 2 ว่าด้วยการกำหนดให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน ตามข้อเสนอของกรรมาธิการเสียงข้างมาก ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อย เสนอขยายเวลาออกไป 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป จากเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

โดยนายพรเพชร ได้กำหนดให้การอภิปรายมาตรานี้ออกมาเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่เสนอให้คงไว้ตามเดิม 2.กลุ่มที่เสนอให้ขยายเวลาออกไป 90 วันตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเสียงข้างมากได้แก้ไข และ 3.กลุ่มที่เสนอให้ขยายเวลาออกไป 120 วัน

นายวิทยา ผิวผ่อง ประธาน กมธ.วิสามัญฯ กล่าวถึงเหตุผลที่ กมธ.วิสามัญฯ ได้ขยายเวลาออกไป 90 วันว่า ที่ผ่านมา สนช.เคยผ่อนผันเวลาการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วในหลายรูปแบบ เช่น ให้มีผลบังคับเมื่อพ้น 90 วันหรือ 240 วันมาแล้วโดยไม่ได้กำหนดให้ เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ, พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น

นายวิทยา กล่าวว่า การเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปเพื่อให้ประชาชน ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงได้มีเวลาเตรียมตัวจะได้ไม่ประพฤติผิดหรือไม่ทำผิดโดยเจตนา กมธ.อยากให้กฎหมายฉบับนี้เป็นการพัฒนาการเลือกตั้งและพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ จึงขอเสนอเลื่อนการใช้บังคับกฎหมายออกไป 90 วัน เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ทำความเข้าใจกับหลักเกณฑ์ฉบับใหม่ โดยไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่

ด้านนายประพันธ์ นัยโกวิท ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายเวลาออกไป 90 วัน กล่าวว่า การกำหนดเวลา 90 วันเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมที่ กรธ.ได้กำหนดไว้ ซึ่ง สนช.ได้ลงมติรับหลักการในวาระแรก ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาของการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นครั้งแรกหลังกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ โดยต้องให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน

นายประพันธ์ กล่าวว่า ระยะเวลา 150 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้นมีความเหมาะสมและยืดหยุ่น อีกทั้งยังเป็นระยะเวลาที่ยาวกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กำหนดไว้เพียง 90 วันเท่านั้น ดังนั้นระยะเวลา 150 วันเหมาะสม และสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งได้

"ข้อห่วงใยต่างๆ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้รับฟังมาโดยตลอด และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. คณะรักษาความความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี รวมถึง กกต.ไม่เคยแจ้งข้อมูลหรือขอให้ กกต.ขยายหรือทำอะไรเกี่ยวกับมาตรา 2 แต่อย่างใด ดังนั้น กรธ.จึงเห็นว่าระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายตามเดิมที่ สนช.ได้เคยรับหลักการเอาไว้ในวาระแรกมีเหตุผลเหมาะสมแล้ว" นายประพันธ์ กล่าว

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับระยะเวลา 90 วัน แต่เสนอให้ขยายเวลา 120 วัน กล่าวว่า ระยะเวลา 90 วันยังไม่เพียงพอ และอาจเกิดประเด็นปัญหาในทางการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะอาจทำให้ดำเนินการตามกฎหมายไม่ทันในทางปฏิบัติ ซึ่งถ้าจะไปขอขยายเวลาในภายหลังก็จะเป็นประเด็นทางการเมืองเข้าไปอีก

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อครั้งที่ กรธ.เสนอร่างกฎหมายเข้ามา สนช.ในวาระแรกไม่ได้กำหนดขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจตรงกัน โดยระหว่างที่ กมธ.วิสามัญฯได้พิจารณาร่างกฎหมายมาตามลำดับ ปรากฏว่ามีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายการเมืองที่ต้องการเลือกตั้ง ภายหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายพรรคการเมืองได้กำหนดให้พรรคการเมืองดำเนินการปรับปรุงพรรคการเมืองให้เข้ากับกฎหมายใหม่ ต่อมามีรองหัวหน้าพรรคการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นว่าอาจทำให้พรรคการเมืองทำไพรมารี่โหวตไม่ทัน จนกระทั่ง คสช.มีคำสั่งที่ 53/2560 ออกมาเพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองมายืนยันการเป็นสมาชิกพรรคด้วยตัวเอง ซึ่งมีผลให้ระยะเวลาที่พรรคการเมืองจะดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายได้ต้องถูกขยับออกไป 6 เดือน

"ถ้าจะจัดการเลือกตั้งด้วยความพร้อมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นปัญหาที่ตามมา เคยมีตัวอย่างมาแล้วจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ซึ่ง กกต.บอกว่าพร้อมแต่ฝ่ายอื่นไม่พร้อม สุดท้ายจัดการเลือกตั้งไม่สำเร็จ จึงคิดว่าแนวทางที่เราจะดำเนินการจัดการเลือกตั้งต่อไปในอนาคต ไม่ควรเกิดขึ้นในบรรยากาศแห่งการต่อสู้และเอาชนะกัน แต่ควรมานั่งคุยกันแล้วดำเนินการร่วมกันว่ามีประเด็นติดขัดตรงไหนบ้างและใช้เวลาปรับแก้ตรงนั้นก่อนที่จะไปนับเวลา 150 วันเพื่อไปสู่การเลือกตั้งต่อไป" นายทวีศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ สำนักงาน กกต. ในฐานะกมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า กกต.ในฐานะเป็นผู้จัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญยืนยันว่ามีความพร้อม ไม่ว่าจะระยะเวลา 150 วันตามรัฐธรรมนูญทันทีที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ หรือจะขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป โดยที่ผ่านมา กกต.ได้เตรียมความพร้อมในเชิงบริหารจัดการร่วมกับ กรธ.มาตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำกฎหมาย

นายณัฏฐ์ กล่าวว่า การที่จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้นั้นจะต้องพิจารณากฎหมาย 3 ฉบับประกอบกัน ได้แก่ 1.รัฐธรรมนูญ 2.กฎหมายพรรคการเมือง และ 3.กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. สิ่งที่เพิ่มขึ้นมา คือ การทำไพรมารี่โหวต ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะสมาชิกพรรคที่จะเข้าไปคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

"ผมลองคาดคะเนดูว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาแน่นอน กระบวนการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ไปจบประมาณเดือน มิ.ย. สมมติกฎหมายฉบับนี้ลงราชกิจจานุเบกษาเดือน มิ.ย.61 ถ้าไม่มีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไป ระยะเวลา 150 วันตามรัฐธรรมนูญจะเริ่มนับทันที ไปจบในเดือน พ.ย.61 แต่เนื่องจากมีคำสั่งที่ 53/2560 เรื่อง การแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ผลที่เกิดขึ้น คือ กรณีที่จะจดแจ้งพรรคการเมืองใหม่จะต้องไปขอ คสช.ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.61 ส่วนพรรคการเมืองเก่าถูกกำหนดให้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน โดยจะไปจบวันที่ 27 ก.ย.61" นายณัฏฐ์ กล่าว

นายณัฏฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่พรรคการเมืองปัจจุบันต้องดำเนินการมี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การจัดให้มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท 2.การให้มีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 500 คนต้องชำระค่าบำรุงพรรคการเมือง และ 3.การจัดประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง แต่การประชุมพรรคการเมืองจะยังทำไม่ได้จนกว่ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นคณะรัฐมนตรีและ คสช.จะเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันเพื่อทำความชัดเจนว่ามีประกาศหรือคำสั่งของ คสช.ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง คาดคะเนว่าการประชุมร่วมกันอาจมีขึ้นได้เดือน มิ.ย.61

"ถ้าจะขยายระยะเวลาเพื่อให้เกิดประโยชน์และให้กระบวนการทุกจบลงเพื่อจะได้เริ่มนับระยะเวลา 150 วัน ก็คิดว่าเวลา 90 วันน่าจะเหมาะสม การขยายเวลา 90 วันก็ไม่ได้หมายความว่าวันเลือกตั้งต้องขยายออกไป 90 วันแต่อย่างใด การมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่อำนาจกำหนดวันเลือกตั้งเป็นของ กกต. ดังนั้นความชัดเจนจะเกิดขึ้นประมาณเดือน มิ.ย.61 ซึ่งโรดแมพจะเกิดขึ้นช่วงนั้น พรรคการเมืองจะเริ่มกิจกรรมได้เมื่อไหรก็ต้องไปว่าตรงนั้น โดยเฉพาะการทำไพรมารี่โหวต" นายณัฏฐ์ กล่าว

นายณัฏฐ์ กล่าวว่า ตามปฏิทินของ กกต.นับจากวันแรกระยะเวลา 150 วัน เราคาดว่าควรจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งภายในวันที่ 70 หลังจากที่ กกต.ได้แบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จแล้ว ซึ่งการทำไพรมารี่โหวตทำได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันเพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้น จึงคิดว่าขยายเวลาเพียง 90 วันก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องถึง 120 วัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสมาชิก สนช.ได้อภิปรายมาตรา 2 เสร็จสิ้นแล้ว แต่นายพรเพชรยังไม่ได้ให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาดในทันที เพราะกำหนดให้ที่ประชุมต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ให้เสร็จสิ้นทุกมาตราก่อน จากนั้นจะกลับมาลงมติเป็นรายมาตราในภายหลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ