ครม.เห็นชอบร่างแผนปฏิรูประเทศทั้ง 11 ด้านเตรียมนำเสนอ สนช.พิจารณา

ข่าวการเมือง Tuesday March 13, 2018 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแผนการปฏิรูประเทศทั้ง 11 ด้าน

สาระสำคัญ ดังนี้ 1.ด้านการเมือง ต้องการให้ประชาชนเข้าใจหลักการของประชาธิปไตย มีส่วนร่วมยอมรับความเห็นที่แตกต่าง ภาคการเมืองต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ และเมื่อมีความขัดแย้งต้องหาทางออกอย่างสันติวิธี

2.ด้านบริหารราชการแผ่นดิน มุ่งเน้นให้การทำงานของระบบราชการมีความกะทัดรัด ทันสมัย สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์โลก ข้าราชการต้องมีคุณภาพสูง มีคุณธรรม ต่อต้านการทุจริตในหน่วยงาน

3.ด้านกฎหมาย มุ่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ไม่เป็นกฎหมายที่เพิ่มภาระให้ประชาชน เช่น การปรับปรุงกฎหมายแรงงานต่างด้าว จากเดิมการเปลี่ยนนายจ้าง หรือย้ายสถานที่ทำงานต้องขออนุญาต แต่ปัจจุบันเป็นเพียงการแจ้งให้ทราบ เพื่อลดภาระให้ประชาชน ส่วนผู้บังคับใช้กฎหมายและประชาชนต้องมีความเข้าใจเนื้อหากฎหมายเพื่อใช้ให้ถูกต้องจะได้ไม่กระทำผิดกฎหมาย

4.ด้านกระบวนการยุติธรรม มีการตั้งกองทุนยุติธรรม มีกฎหมายที่เอื้อให้ประเทศสามารถมีศักยภาพในการแข่งขันกับผู้อื่น

5.ด้านเศรษฐกิจ จะต้องครอบคลุมทุกภาคส่วน ต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต

6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยึดหลักการสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์ พร้อมเร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย

7.ด้านสาธารณสุข เน้นเรื่องการบริการปฐมภูมิป้องการการเจ็บป่วย โดยมีทีมให้คำปรึกษาก่อนป้องกันการเจ็บป่วย และประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการบริการสาธารณสุข

8.ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยี จะต้องสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพของสื่อกับความรับผิดชอบ โดยสื่อจะต้องเป็นโรงเรียนให้ประชาชนและสังคม

9.ด้านสังคม มุ่งให้ประชาชนมีหลักประกันทางรายได้หลังวัยเกษียณไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่รับราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรืออยู่นอกระบบราชการ โดยมีโครงการต่างๆ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น

10.ด้านพลังงาน จะส่งเสริมพลังงานทดแทนให้ประชาชนมีส่วนร่วม

และ 11.ด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องมีมาตรฐานกำกับการทำงานจของหน่วยงานราชการ ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวต่อสาธารณะ พัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง เช่น ขั้นตอนการประมูลงานโครงการต่างๆของรัฐบาล เป็นต้น

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน มีประเด็นแยกย่อย รวม 132 ประเด็น มี 478 กิจกรรม และ 791 ตัวชี้วัด โดยนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ทุกกระทรวงนำเป้าหมายการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ตรวจสอบว่ามีกิจกรรมใดที่สอดคล้องกับแนวทางของแต่ละกระทรวง เพื่อให้เห็นการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ แผนปฏิรูป 11 ด้านได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะส่งให้ สนช. ซึ่งหลัง สนช.ให้ความเห็นชอบจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้านมีระยะเวลาในการทำงาน 5 ปี เพื่อขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปไปสู่กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ จนนำไปสู่การออกกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ

ส่วนแผนปฏิรูปที่เหลืออีก 2 ด้าน คือ ด้านตำรวจ และด้านการศึกษายังดำเนินการไม่เสร็จเรียบร้อย

"คณะกรรมการปฏิรูปจะคอยรายงานความคืบหน้าให้รัฐบาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ป.ป.ช.รับทราบ ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องดำเนินการ ถ้าทำไม่ได้ก็เสนอความเห็นให้คณะกรรมการปฏิรูปปรับแก้ได้" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

สำหรับภาพรวมของแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน มีประเด็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปที่สำคัญซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน

1) การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ การส่งเสริมการประกอบอาชีพ และการปรับปรุงกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน ผ่านการดำเนินการตามแผนปฏิรูป 4 ด้านหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และสาธารณสุข

2) การพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับชุมชน ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และเชื่อมโยงการผลิตของไทยกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค

3) การสร้างสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง มุ่งเน้นให้คนในชุมชนทุกกลุ่มมีความมั่นคงด้านอาชีพ และรายได้ รวมทั้งมีหลักประกันทางรายได้ในวัยเกษียณที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ และได้รับสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสม

4) การฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มุ่งเน้นการฟื้นฟู อนุรักษ์ เพื่อสร้างฐานทรัพยากรของประเทศไทยในระยะยาวควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน

5) การสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งในในกระบวนการทำงานภาครัฐ ปฏิรูปหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ติดตาม และประเมินผลมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับภาพรวมและระดับพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และกลุ่มเป้าหมาย

6) การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ปรับปรุงกฎหมายเพื่อสนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ การดำเนินการตามประเด็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปที่สำคัญ 6 มิติดังกล่าวข้างต้นจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยในภาพรวม 4 ด้าน ได้แก่ 1) ประเทศไทยมีฐานทรัพยากรรองรับการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลในเชิงสังคมและเชิงเศรษฐกิจ 2) ประชาชนมีสวัสดิการของรัฐที่เหมาะสม มีโอกาสในการสร้างอาชีพและได้รับความเป็นธรรมในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรม 3) ภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมได้รับการยกระดับ รวมทั้งลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และ 4) การบริหารจัดการภาครัฐมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชน

นอกจากนี้ การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน จะก่อให้เกิดประโยชน์ในแต่ละระดับของสังคม คือ ระดับประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ