รัฐบาลแจงข้อเท็จจริงกรณียูเอ็นอ้างไทยเป็นประเทศที่น่าละอาย ย้ำไม่มีนโยบายข่มขู่คุกคามนักสิทธิมนุษยชน

ข่าวการเมือง Saturday September 15, 2018 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบรายงานของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับกรณีที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยรายงานประจำปี แจงรายชื่อ 38 ประเทศว่าเป็น "ประเทศที่น่าละอาย" โดยอ้างว่ามีการปฏิบัติไม่ดีต่อนักสิทธิมนุษยชนหรือผู้ให้ความร่วมมือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย ที่เพิ่งถูกระบุชื่อด้วยในปีนี้

โดยรายงานประจำปีฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะใช้ประกอบการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นในสัปดาห์หน้า

ในส่วนของไทยถูกระบุถึง กรณีนายไมตรี จำเริญสุขสกุล และน.ส. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน) และนำเรื่องที่ติดตามจากรายงานปีที่แล้ว เช่น กรณีฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภายใต้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการให้ความร่วมมือตามกลไกด้านสิทธิมนุษยชน เพราะขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามหลักกฎหมายและระเบียบ

นายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายหรือเจตนาจะคุกคาม ข่มขู่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และยังให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนให้มีความปลอดภัยและสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติงานและดำรงชีวิตได้

โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้แก่ การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนามาตรการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแนวทางคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน การจัดทำคู่มือสำหรับนักสิทธิมนุษยชน การลงพื้นที่ติดตามการคุ้มครองกรณีนักสิทธิมนุษยชนถูกละเมิด หรือมีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิด การจัดทำรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนทุกสัปดาห์

นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และบรรจุเรื่องของนักสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 – 2566 รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ โดยมีรมว. ยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าทูตไทยประจำยูเอ็น จะไปร่วมรับฟังการนำเสนอรายงานนี้ และจะใช้โอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชัดเจน

การที่สื่อหลายสำนักพาดหัวข่าวทำนองว่า "ยูเอ็นขึ้นบัญชีดำ" ไทย นั้น อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของยูเอ็นโดยตรง แต่เป็นเรื่องของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ หรือ UNHRC (UNHCR เดิม) ซึ่งกล่าวถึงประเทศที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่การ "ขึ้นบัญชีดำ" แต่อย่างใด

ส่วนการนำเสนอข่าวมักกล่าวถึงเพียงบางประเทศ เช่น ไทย จีน เมียนมา ทั้ง ๆ ที่มีอีกกว่า 30 กว่าประเทศที่ถูกกล่าวหา คือ แอลจีเรีย บาห์เรน บุรุนดี แคเมอรูน จีน โคลัมเบีย คิวบา คองโก จิบูตี อียิปต์ กัวเตมาลา กายอานา ฮอนดูรัส ฮังการี อินเดีย อิหร่าน อิรัก อิสราเอล ญี่ปุ่น คีร์กีซสถาน มัลดีฟส์ มาลี เม็กซิโก โมร็อกโก เมียนมา ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ รัสเซีย รวันดา ซาอุดิอาระเบีย ซูดานใต้ ไทย ตรินิแดดแอนด์โตเบโก ตุรกี เติร์กเมนิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อูซเบกิสถาน และเวเนซุเอลา

"มีข้อสังเกตด้วยว่า คนบางกลุ่มมักชื่นชอบการแชร์หรือส่งต่อเรื่องที่เสียหาย ราวกับต้องการซ้ำเติมประเทศตัวเอง แต่หลายเรื่องที่เป็นเรื่องดี ๆ เช่น ไทยติดอันดับ 1 ของประเทศที่ดีที่สุดสำหรับผู้คนทั่วโลก ไทยได้รับยกย่องจาก WHO ให้เป็นต้นแบบด้านการจัดการสุขภาพของโลก หรือไทยมีดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันดีขึ้น ฯลฯ กลับไม่ค่อยถูกขยายผลส่งต่อให้คนในชาติเกิดความภาคภูมิใจ"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ