เลือกตั้ง'62:นับเวลาถอยหลัง 7 มี.ค. ลุ้นคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญยุบ-ไม่ยุบ "ไทยรักษาชาติ"

ข่าวการเมือง Tuesday March 5, 2019 10:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัปดาห์นี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งศาลมีคำสั่งนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 มี.ค.62 เวลา 15.00 น.

สำหรับลำดับเหตุการณ์ดังกล่าว มูลเหตุแห่งคดีนี้เริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ในช่วงเช้าของวันที่ 8 ก.พ.62 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ กกต.เปิดรับสมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขต, ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรายชื่อผู้ที่พรรคการเมืองจะเสนอต่อรัฐสภาเพื่อคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี โดย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค ร่วมกันยื่นบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคต่อ กกต. โดยเสนอพระนาม "ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี" เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมตามมาเป็นอย่างมาก

ขณะที่มีเสียงค้านในเรื่องดังกล่าว และเป็นที่มาของการเสนอยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทั้งนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้กกต. สั่งให้พรรคไทยรักษาชาติ ระงับการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ในรายชื่อบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค เนื่องจากเข้าข่ายขัดต่อระเบียบ กกต.

แต่ในช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ได้เผยแพร่พระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า แม้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี จะทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้วตามกฎมณเฑียรบาล โดยได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นลายลักษณ์อักษร หากยังทรงสถานะและดำรงพระองค์ในฐานะสมาชิกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ถัดจากนั้นวันที่ 11 ก.พ. ทางนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ได้มายื่นเรื่องยุบพรรคต่อกกต.ด้วยเช่นกัน

  • วันที่ 12 ก.พ.62 ท่ามกลางกระแสข่าว กกต.มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ทษช. คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรค ทษช.ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ กกต.เพื่อขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานกรณี กกต.จะยื่นยุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ
  • วันที่ 13 ก.พ.62 สำนักงาน กกต.แจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ.62 ที่ประชุมคณะกรรมการ กกต.ได้พิจารณากรณีพรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 รายชื่อ และเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92
  • วันที่ 14 ก.พ.62 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา สมาชิกพรรค ทษช. เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีคำสั่งไม่รับคำร้องของ กกต.ที่ให้วินิจฉัยสั่งยุบพรรค ทษช.ไว้พิจารณา ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แถลงงดจัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่ออกไปก่อนเพื่อไม่ให้มีปัญหาแทรกซ้อน

และในช่วงเย็น ศาลรัฐธรรมนูญลงมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งรับคำร้องที่ กกต.ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรค ทษช.ไว้พิจารณา และนัดพิจารณาในวันที่ 27 ก.พ.62 เวลา 13.30 น.

  • ช่วงบ่ายวันที่ 20 ก.พ.62 นายสุรชัย ชินชัย และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความพรรค ทษช.เดินทางมาศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยื่นเอกสารคำชี้แจงตามกำหนดเวลาซึ่งมีความหนา 20 หน้า และมีประเด็นข้อต่อสู้รวม 8 ประเด็น
  • วันที่ 27 ก.พ. 62 ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพฤหัสบดีที่ 7 มี.ค.62 เวลา 13.30 น. และนัดอ่านคำวินิฉัยให้คู่กรณีฟังในวันเดียวกัน เวลา 15.00 น. แจ้งวันเวลานัดอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าวให้คู่กรณีทราบ

นายสุรชัย ชินชัย ทนายความพรรค ทษช.กล่าวยืนยันว่า พรรคไม่มีเจตนากระทำเป็นทางลบต่อประเพณีการปกครอง และได้ชี้แจงข้อกล่าวหากรณีที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองไปแล้ว และข้อกฎหมายที่มาโต้แย้ง คือ ประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติข้ามขั้นตอนกฎหมาย

โดยคาดว่าคำวินิจฉัยจะออกมาได้ทั้ง 2 แนวทาง คือ ยกคำร้องหรือยุบพรรคก็ได้ และเมื่อคำวินิจฉัยสิ้นสุดแล้วก็ถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถยื่นคำร้อง หรืออุทธรณ์ใดๆ ได้อีก

ด้านนายปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ เปิดเผยว่า อยากสื่อสารไปถึงประชาชนที่เมตตาและสนับสนุนพรรค อยากให้ติดตามชมผลการวินิจฉัยอยู่ที่บ้าน เพราะไม่อยากให้เกิดการสร้างสถานการณ์ นำเรื่องคดียุบพรรคไปทำให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนกรรมการบริหารพรรคจะไปฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรควันที่ 7 มี.ค. และเมื่อผลออกมาอย่างไรก็พร้อมน้อมรับ

ต้องมาลุ้นว่า 7 มี.ค.จะมีผลต่อกรรมการบริหารของพรรคทั้ง 14 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทายาทนักการเมือง ประกอบด้วย 1. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคฯ 2. น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรคฯ 3. นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรคฯ 4. นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรคฯ 5. นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรคฯ

6. นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรคฯ 7. นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรคฯ 8. นายต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรคฯ 9. นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรคฯ 10. น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรคฯ

11. นายพงษ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรคฯ 12. นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกพรรคฯ 13. รศ.รุ่งเรือง พิทยศิริ กรรมการบริหารพรรคฯ และ 14. นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย กรรมการบริหารพรรคฯ จะถูกตัดสิทธิและจะมีเหตุวุ่นวายตามมาหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ