เลือกตั้ง'62: สรรพากรชี้ Blind Trust ต้องรายงานข้อมูลเพื่อเสียภาษีปกติ-ก.ล.ต.บุคคลทั่วไปให้ บลจ.จัดการได้

ข่าวการเมือง Tuesday March 19, 2019 18:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โอนสินทรัพย์เข้ากองทุนส่วนบุคคลในลักษณะ Blind Trust และมอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนเป็นผู้บริหารว่า การโอนทรัพย์สินเข้า Blind Trust ถือเป็นการบริหารจัดการทรัพย์สินปกติ ในลักษณะเดียวกับกองทุนส่วนบุคคลต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งต้องขออนุญาตจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยเฉพาะการจัดการด้านรายได้และผลประโยชน์ผลตอบแทน ซึ่งผู้บริหารจัดการกองทุนต้องทำหน้าที่นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีและเงินปันผลทุกประเภท

ขณะที่สำนักงาน ก.ล.ต. ชี้แจงว่า การที่บุคคลทั่วไปประสงค์จะจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคลเพื่อการบริหารจัดการทรัพย์สินก็สามารถทำได้ โดยแต่งตั้งบริษัทที่มีใบอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคล อย่างไรก็ดี หากเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งรัฐมนตรี การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ซึ่งบริษัทที่รับจัดการทรัพย์สินของรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว โดยไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง และอดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การที่นายธนาธรโอนทรัพย์สินกอง Blind Trust ยังไม่สามารถแก้ปัญหาประโยชน์ทับซ้อนได้จริง กรณีเป็นธุรกิจครอบครัว

โดยยกตัวอย่างกรณีนักการเมืองที่โอนหุ้นในชื่อของตนเองในกิจการครอบครัว ถึงแม้ว่ากติกากำหนดว่าผู้บริหารกอง Blind Trust จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องการลงทุนทรัพย์สินส่วนนี้แทนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติในฐานะผู้ถือหุ้น วันเดียวที่เขาจะมีอำนาจก็คือวันประชุมผู้ถือหุ้น คือจะออกเสียงอะไร ไม่ต้องไปถามผู้โอนสินทรัพย์ ส่วนวันอื่นไม่มีอำนาจอะไรเลย เขาอาจจะมีอำนาจมากขึ้น ถ้าหากผู้ถือหุ้นอื่นในครอบครัวเลือกให้เขาเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทแทนผู้โอนฯ แต่ก็ไม่มีกติกาใดที่บังคับเรื่องนี้

นอกจากนี้ ต่อให้เข้าไปเป็นกรรมการ ก็จะมีเพียงเสียงเดียวในคณะกรรมการเท่านั้น ส่วนในทางทฤษฎีที่เขามีสิทธิที่จะขายหุ้นในบริษัทออกไป และเอาเงินที่ได้ไปลงทุนอื่นแทนนั้น ในทางปฏิบัติก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น

ดังนั้น กรณีที่ทรัพย์สินของนักการเมืองที่เป็นหุ้นในกิจการครอบครัว นอกจากไม่สามารถป้องกันประโยชน์ทับซ้อนได้จริงแล้ว ยังจะมีปัญหาอีกด้วยเนื่องจากมีภาพภายนอก เสมือนว่ามีเกราะป้องกัน นักการเมืองจึงอาจจะแอบส่งผ่านข้อมูลเพื่อให้กิจการครอบครัวรู้ข้อมูลภายในก่อน และปรับตัวได้ก่อนคู่แข่ง รวมทั้งนักการเมืองอาจจะออกนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่กิจการครอบครัว โดยทำทีว่าตนเองไม่รู้ว่านโยบายจะมีผลออกมาเช่นนั้น

ดังนั้น ในกรณีกิจการครอบครัว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงต้องคิดอ่าน กำหนดข้อบังคับให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกิจที่ละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะการทำธุรกรรมกับภาครัฐ และที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของรัฐเพื่อให้สื่อมวลชนและภาคประชาชนติดตามป้องปรามประโยชน์ทับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ