เลือกตั้ง'62: กกต.มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง

ข่าวการเมือง Thursday April 11, 2019 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณเพื่อจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีได้ หลังพบหลักเกณฑ์การคำนวณตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ในวันนี้ กกต.ได้พิจารณาเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีได้ ตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ประกอบมาตรา 128 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ตามที่สำนักงาน กกต.เสนอ

ที่ประชุม กกต.แล้วมีความเห็นว่า ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 91 วรรคสาม กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณและการคิดอัตราส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 โดยมาตรา 128 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไว้ ซึ่งสำนักงาน กกต.ได้เสนอผลการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต่อ กกต.ตามแนวทางของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ได้จัดทำวิธีการคำนวณในชั้นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่า การคำนวณดังกล่าวมีพรรคการเมืองหลายพรรคมีจำนวนสมาชิก ส.ส.ที่จะพึงมีได้ในเบื้องต้นต่ำกว่าหนึ่งคน แต่เมื่อคำนวณต่อไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 (5) แล้ว พรรคการเมืองที่มีผลการคำนวณจำนวน ส.ส.จะพึงมีได้ในเบื้องต้นต่ำกว่าหนึ่งคนดังกล่าวสามารถได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน

ที่ประชุม กกต.จึงได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวแล้วเห็นว่า แม้การคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่สำนักงาน กกต.ดำเนินการมานั้นสามารถจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ กรธ.ก็ตาม แต่การคำนวณ ส.ส.ตามมาตรา 128 (5) ดังกล่าวมีผลขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 91 (2) และ (4) เนื่องจากมีผลให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.จะพึงมีได้ต่ำกว่าหนึ่งคน สามารถได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้หนึ่งคน จึงอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคมีจำนวน ส.ส.เกินกว่าจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 91 (4)

แต่หากคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 91 แล้ว จะทำให้ไม่สามารถจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน อีกทั้งหากไม่นำจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ในเบื้องต้นของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าหนึ่งคนไปคิดคำนวณต่อตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 (5) ก็ไม่สามารถคิดคำนวณจัดสรรได้ครบ 150 คนได้เช่นกัน จึงไม่ไม่มีวิธีการใดที่จะนำมาคิดคำนวณให้มีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้จำนวน 150 คน ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 83 ได้

อีกทั้งการคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 91 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ผลของการคำนวณจะไม่สามารถนำไปประกาศผลการเลือกตั้งได้ เพราะอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 91 (4)

ที่ประชุม กกต.จึงอาศัยเหตุผลทั้งหมดเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 210 (1) และ (2) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ว่า กรณี กกต.จะคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน 150 คนได้ มีเพียงการคำนวณตามมาตรา 91 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกอบมาตรา 128 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ที่สามารถจะคำนวณให้ได้จำนวนสมาชิก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน 150 คนได้

ดังนั้น กกต.จะคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 โดยการคิดคำนวณดังกล่าวอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคนได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน กกต.จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 91 หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ