"ชลน่าน" ชู "โภคิน" เหมาะนั่งประธานกมธ.ศึกษาแก้รธน. แนะกำหนดกรอบทำงานภายใน 90 วัน

ข่าวการเมือง Monday November 25, 2019 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (26 พ.ย.) วิปฝ่ายค้านจะประชุมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับการบุคคลที่จะมาดำรงประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนตัวเห็นว่านายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา มีความเหมาะสม แต่ในภาพรวมคิดว่าประธานกมธ.ดังกล่าว ควรมาจากบุคคลที่เป็นกลาง หรือฝ่ายค้านที่มีความตั้งใจอยากแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จได้รับความร่วมมือ แต่หากได้บุคคลที่เป็นกลาง แต่ไม่มีเจตนาอยากแก้รัฐธรรมนูญ จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก เพราะคนที่จะมาเป็นประธานกมธ. ต้องมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการโน้มน้าวที่ประชุมให้สามารถดำเนินไปในทิศทางเดียวกันได้

ทั้งนี้ กรอบการทำงานของ กมธ.ชุดนี้ ควรกำหนดไว้ไม่เกิน 90 วัน เพราะหากมีเวลาศึกษามากกว่านี้ หรือนานเกินไปจะทำให้การทำงานไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากเวลานี้ก็เริ่มรู้กันอยู่ว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาจุดใด ส่วนตัวคิดว่าข้อสรุปของกมธ.ชุดนี้จะออกมาใน 4 แนวทางได้แก่ 1.การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น 2.การแก้ไขมาตรา 256 พร้อมกับแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราบางประเด็น เช่น ระบบการเลือกตั้ง 3.การแก้ไขมาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองประกาศ คำสั่งของ คสช.ให้ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นไปได้น้อยที่สุด 4. การแก้ไขมาตรา 256 พร้อมกับตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นประเด็นความหวังสูงสุดของฝ่ายค้านหาช่องรอมชอมส.ว.หวังให้ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ

นพ.ชลน่าน กล่าวถึงกรณีที่หากส.ว.ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้รัฐธรรมนูว่า ยอมรับว่าเรื่องส.ว.เป็นปัญหาสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญจะทำได้ต่อเมือมีเสียงส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน จาก 250 คนเห็นชอบด้วย อย่างไรก็ตาม คิดว่าในชั้นกมธ.จะพิจารณาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญให้มีผลกระทบต่อส.ว. เช่น ไม่ให้เรื่องเกี่ยวกับส.ว.มีผลบังคับใช้ทันที แต่ให้มีผลบังคับใช้ในอนาคต หลังหมดบทเฉพาะกาลไปแล้ว

ส่วนที่ระบุว่าจะมีอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาเป็นกมธ.วิสามัญนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนตัวมีความเห็นเป็น 2 ทาง คือ ถ้าเข้ามาช่วยกันผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าวิธีคิดตอนร่างรัฐธรรมนูญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีผลให้รัฐธรรมนูญมีปัญหาจริง จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปได้ แต่หากเข้ามาขัดขวาง จะมีผลให้การผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก มีอุปสรรคมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ