(เพิ่มเติม) กมธ.ศึกษาแก้รธน.ประชุมนัดแรก วางกรอบการทำงานหลังแต่ละฝ่ายมีความเห็นต่าง

ข่าวการเมือง Tuesday January 14, 2020 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้ประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนัดแรก เพื่อเปิดโอกาสให้กรรมาธิการทุกคนแสดงความคิดเห็นว่าจะเริ่มต้นในการศึกษาหาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร

"การฟังความเห็นนั่นเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากจะรอรับฟังความเห็นแล้วไม่ได้ทำงานก็คงเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกัน หากมัวแต่ทำงานโดยไม่รับฟังความคิดเห็นก็ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องสรุปว่าการรับฟังความเห็นจะดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาของคณะกรรมาธิการ แต่ทั้งนี้ต้องกำหนดวิธีการรับฟังความเห็นต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร"

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธาน กมธ.ฯ กล่าวว่า เห็นด้วยในข้อเสนอว่าควรวางกรอบการทำงานก่อนจะลงรายละเอียดเนื้อหา แต่ยังไม่ควรออกไปเปิดรับฟังความเห็นประชาชน เพราะในชั้นกรรมาธิการยังไม่ได้พิจารณาประเด็นที่จะเอาไปสำรวจความคิดเห็น แต่สามารถเปิดให้ประชาชนส่งความคิดเห็นมาที่กรรมาธิการได้

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่า ควรให้สมาชิกวุฒิสภาตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญควบคู่ไปกับสภาผู้แทนราษฎร หรือให้ตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อให้การศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็น

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การตั้งกรรมาธิการชุดนี้ขึ้นเพื่อต้องการผ่อนหนักให้เป็นเบา เพราะทราบดีกันอยู่แล้วว่าหาก ส.ส.เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขต่อรัฐสภาก็จะถูกตีตกทันที เพราะ ส.ว.เพียง 84 คนก็สามารถสกัดได้แล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องตั้งกรรมาธิการชุดนี้ด้วยเพื่อกำหนดเป็นข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีประชาชนสนับสนุน จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องเปิดให้มีการรับฟังความเห็นประชาชน โดยการตั้งอนุกรรมาธิหารลงพื้นที่ควบคู่ทำงานไปกับคณะกรรมาธิการ

นายนิกร จำนง ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอให้มีการรับฟังความเห็นประชาชน 2 ชั้น ชั้นแรกคือการรับฟังความเห็นก่อนพิจารณาเพื่อดูว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ก่อนรับฟังความเห็นอีกชั้นเมื่อลงรายมาตรา

นายทศพล เพ็งส้ม กรรมาธิการจากพรรคพลังประชารัฐ เห็นว่า ควรศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อดูว่าการแก้ไขมีปัญหาอย่างไร เพื่อให้ประชาชนทราบก่อน ก่อนวางแนวทาง แล้วค่อยไปถามประชาชน

นายกฤษ เอื้อวงษ์ รองเลขาธิการ กกต. มองว่า ควรกำหนดแนวทางการแก้ไขให้ชัดเจน ควบคู่ไปกับเนื้อหาสาระที่จะแก้ไข และเห็นด้วยว่าควรรับฟังความเห็นประชาชนแบบคู่ขนานเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกรับฟังแบบกว้างๆ และให้กรรมาธิการมากำหนดประเด็นในการแก้ไข ก่อนไปรับฟังความเห็นอีกครั้งว่าเห็นด้วยกับประเด็นที่จะแก้ไขหรือไม่

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย เห็นด้วยที่จะให้รับฟังความเห็นทั้งขั้นตอนศึกษาและขั้นตอนการแก้ไข แต่ต้องรับฟังอย่างจริงจัง เพราะประชาชนมีความรู้และทราบปัญหาเป็นอย่างดี

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการ กกต. เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 3 แนวทางคือ แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพียงอย่างเดียว เพื่อเปิดทางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ง่าย แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะ ส.ว.ไม่ยอม เนื่องจากมาตรานี้กำหนดให้ ส.ว.เข้ามาร่วมถ่วงดุลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขมาตราที่เป็นปัญหาเลยโดยไม่ต้องแก้ที่มาตรา 256 แต่ตะเกิดปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบในการแก้ไข เพราะแต่ละฝ่ายเห็นปัญหาที่แตกต่างกัน และแนวทางสุดท้ายคือการแก้มาตรา 256 แล้วให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.ขึ้นมาร่างกติกาใหม่ แต่จะส่งผลให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสียหน้าเพราะสิ่งที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำมาต้องกลับมาร่างใหม่ทั้งหมด รวมทั้งการตั้ง สสร.ขึ้นมาอาจใช้เวลาในการพิจารณานานถึง 2 ปี พร้อมเสนอให้กรรมาธิการกำหนดตารางการทำงานที่ชัดเจนและตั้งเป้าหมายในแต่ละเดือน และต้องสื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และเปิดรับฟังความคิดห็นประชาชน 1 เดือนเต็มเพื่อนำความเห็นมาพิจารณา

นอกจากนี้ ยังเห็นว่ากรรมาธิการควรมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะไม่ขยายเวลาการทำงาน เพราะคณะกรรมาธิการมีโอกาสและทรัพยากรเต็มที่ หากไม่สามารถทำงานแล้วเสร็จตามกรอบที่กำหนด ถือว่าเป็นปัญหาของกรรมาธิการชุดนี้ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องการรับฟังความคิดเห็นควรดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการและไม่ควรปล่อยให้พรรคการเมืองทำกันเอง

ขณะที่นายโภคิน พลกุล กรรมาธิการสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่คงไม่ดีหากกระจุกอยู่เฉพาะความเห็นกรรมาธิการ จึงควรเปิดรับฟังความคิดเห็นคนนอกด้วย

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกมธ. เปิดเผยว่า การศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญควรวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ต้องการรัฐธรรมนูญที่มีความทันสมัย หรือ ทำรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งการประชุกมธ.​นัดหน้า วันที่ 17 ม.ค.นั้นจะเสนอแนวทางที่ตนเห็นว่าเหมาะสม คือการทำรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับ ผ่านการทำประชามติ จำนวน 2 รอบ คือ รอบก่อนที่จะลงมือแก้ไขเนื้อหา และรอบหลังจากที่ทำเนื้อหาแล้วเสร็จ

สำหรับการทำงานของกมธ. หากต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้น นายสุทิน คาดว่าอาจต้องใช้เวลามากพอสมควร เบื้องต้นกมธ. ต้องการทำงานให้แล้วเสร็จภายใต้กรอบเวลา 60 วัน แต่หากมีความจำเป็นต้องขยายเวลาต้องขยายตามความเหมาะสมและดูเจตนา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ