(เพิ่มเติม) โฆษกอนาคตใหม่ เผย ศาลรธน.ปัดข้อเสนอเปิดไต่สวนคดียุบพรรค แต่ให้ขยายวันส่งคำชี้แจงเป็น 17 ก.พ.

ข่าวการเมือง Thursday February 13, 2020 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องของพรรคอนาคตใหม่ที่ขอให้เปิดไต่สวนโดยเปิดเผยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยยุบพรรคกรณีกู้เงิน 191 ล้านบาทจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค แต่ศาลฯ ได้ขยายวันให้พยานส่งคำชี้แจงไปเป็นภายในวันที่ 17 ก.พ.นี้ จากเดิมกำหนดให้จัดทำบันทึกถ้อยคำส่งให้ศาลฯ ภายในวันที่ 12 ก.พ.63

อย่างไรก็ตาม ศาลฯ ยังยืนยันกำหนดวันวินิจฉัยคดีคือวันที่ 21 ก.พ.63 ตามเดิม

ก่อนหน้านั้นนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาระบุว่า พรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่อนุญาตให้มีการไต่สวนพยานบุคคล และกำหนดให้พรรคส่งบันทึกถ้อยคำพยาน 17 รายภายใน 6 วัน เนื่องจากเวลาน้อยเกินไป เพราะพรรคได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 63 แต่ติดช่วงวันหยุดยาวอีก 3 วัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งบันทึกถ้อยคำทั้ง 17 รายเป็นลายลักษณ์อักษรได้ทัน

++++อย่างไรก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ตั้งข้อสงสัย 2 ประการ คือ พยานทั้ง 17 ปากนั้น มีเพียง 4 คนที่เป็นพยานนำ ซึ่งพยานนำนี้พรรคสามารถทำคำชี้แจงได้ แต่อีก 13 คนที่เหลือเป็นพยานหมาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และอดีตเจ้าหน้าที่ กกต. ในกรณีพยานหมายนี้ พรรคไม่สามารถไปทำคำชี้แจงเองได้ และเนื่องจากได้เวลาเพียง 5 วัน ซ้ำยังติดเสาร์-อาทิตย์ ไม่สามารถทำคำชี้แจงพยานหมายเองได้ทันอย่างแน่นอน จึงจำเป็นต้องขอใช้อำนาจศาลในการเรียกมาไต่สวน แต่ศาลกลับปฏิเสธ

หรือต่อให้พรรคอนาคตใหม่ทำคำชี้แจงพยานครบทั้ง 17 คน แล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 17 ก.พ. ศาลจะใช้เวลาพิจารณาคำชี้แจงของพยานทั้ง 17 คน ซึ่งไม่สามารถรู้เลยว่าจะมีความยาวเท่าไร และตัดสินคดีได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรม ภายในวันที่ 21 ก.พ. เนื่องจากไม่มีการเลื่อนพิจารณาคดี ไม่มีการเลื่อนการออกคำวินิจฉัย สาธารณชนย่อมตั้งข้อสงสัยว่า คำชี้แจงคำให้การของพยานทั้ง 17 ปาก เพียงไม่กี่วันก่อนถึงวันพิพากษา คำชี้แจงเหล่านั้นจะได้รับการพิจารณาอย่างถ่องแท้หรือไม่

"ทุกท่านลองพิจารณาดูว่า พยานทั้ง 17 ปาก ไม่ได้รับการไต่สวนต่อสาธารณะ ทั้งที่คดีเงินกู้มีทั้งเอกสารหลุด มีทั้งการวิพากษ์วิจารณ์มากมายของนักกฎหมาย นักวิชาการ นักการเมือง ไปจนถึงสาธารณะชนทั่วไป ตกลงกระบวนการมีความผิดปกติตั้งแต่ชั้น กกต.หรือไม่ เพราะทั้งอนุกรรมการถึง 2 ชุดได้ยกคำร้องไปแล้ว แต่ กกต.ก็ยังส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ การพิจารณาคดีในทำนองนี้มีความเร่งรัดหรือไม่ เหล่านี้เป็นคำถามทั่วไปที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงไม่เปิดให้มีการไต่สวน เพื่อให้สาธารณะชนเห็นว่านี่เป็นการตัดสินคดีโดยอิงต่อหลักนิติรัฐนิติธรรมจริงๆ" น.ส.พรรณิการ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ