"ธนาธร"ยันมีพรรคสำรองหากถูกยุบ มั่นใจ ส.ส.ไม่แตกแถว แย้มศึกซักฟอกพุ่งเป้าทุจริต-นำพาประเทศไปผิดทาง

ข่าวการเมือง Wednesday February 19, 2020 18:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวยืนยันว่า ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ.นี้จะไม่ไปฟังคำตัดสินของศาลกรณีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินหัวหน้าพรรค แต่แกนนำทุกคนจะรวมตัวกันอยู่ที่พรรค ซึ่งหากศาลตัดสินไม่ยุบก็จะแถลงขอบคุณประชาชนและจะพูดถึงแผนการทำงานในปี 63 ให้ประชาชนรับทราบ ส่วนนายปิยุบตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค จะชี้แจงความคิดเห็นที่มีต่อคำวินิจฉัยของศาล

อย่างไรก็ตาม นายธนาธร มั่นใจว่าพรรคพนาคตใหม่จะไม่ถูกยุบแน่นอน เพราะเชื่อในความบริสุทธิ์ และเชื่อในการทำงานทางการเมืองอย่างโปร่งใส แต่หากมีการยุบพรรคจริงๆ ก็มีการเตรียมพรรคสำรองเอาไว้แล้ว และมั่นใจว่าส.ส.ของพรรคประมาณ 60 คน บวก/ลบ จะไม่ทอดทิ้งและพร้อมจะย้ายไปอยู่บ้านใหม่ด้วยกัน และพร้อมจะเดินตามนโยบายและอุดมการณ์ที่สร้างมาด้วยกัน

นายธนาธร กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ในเวลาทั้งหมด 42 ชั่วโมงของการอภิปรายฯ พรรคอนาคตใหม่ได้ขอโควตา 11 ชั่วโมง ประกอบด้วยผู้อภิปราย 16 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นกรรมการบริหารพรรค 3-4 คน แต่หากศาลวินิจฉัยให้ยุบพรรคก็เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว โดยใน 16 คนจะมี 1 คนที่จะอภิปรายฯในภาพรวม และอีก 15 คนอภิปรายฯ คนละประเด็นไม่ซ้ำกัน ทุกประเด็นอ้างอิงจากหลักฐานชั้นต้น เอกสาร หลักการ หลักกฎหมาย รัฐธรรมนูญ จะไม่มีการกล่าวหาเลื่อนลอย จะไม่มีการอภิปรายที่ใช้โวหาร ทุกคนจะอภิปรายสั้น กระชับ และตรงประเด็น

"จะไม่โฟกัสเรื่องการทุจริตอย่างเดียว แต่จะพูดถึงการนำพาประเทศไปผิดทิศผิดทาง ซึ่งอาจจะหนักหาสาหัสกว่าการทุจริตด้วยซ้ำ และให้ประชาชนเห็นฝีมือการทำงาน การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของพรรคอนาคตใหม่ แม้จะเป็นส.ส.มาได้ไม่ถึงปี แต่เราขอทำหน้าที่แทนประชาชน"นายธนาธร กล่าว

นอกจากนี้ นายธนาธร ได้โพสต์เฟซบุค โดยเก็บตกงานเสวนาวิชาการ "ประชาชนอยู่ตรงไหน เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" ระบุว่า ความสอดคล้องที่ผมเห็นของวิทยากรที่ร่วมงานดังกล่าวคือองค์กรอิสระในยุคปัจจุบันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกำกับควบคุมอำนาจที่มาจากประชาชน ซึ่งทำให้ตนได้ข้อคิดและประโยชน์มากมายจากงานวันนี้ ขอบคุณวิทยากร, ผู้ดำเนินรายการทุกท่าน, และผู้จัดงาน ที่กล้าพูดความจริงที่ผู้มีอำนาจไม่อยากให้ประชาชนได้ยิน

พร้อมยกตัวอย่างกรณี รศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมนุษย์วิทยา มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แสดงความเห็นชวนให้คิดว่า อภิสิทธิ์ชน-ชนชั้นที่มีสำนึกและผลประโยชน์ร่วมกัน หวาดกลัวอำนาจของและที่มาจากประชาชน จึงพยายามสร้างกลไกที่จะจัดการกับอำนาจนั้น ทำให้ผมนึกถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งอำนาจที่มาจากประชาชนทั้งสามอำนาจนั้นถูกกำกับโดยอำนาจที่มาจากการทำรัฐประหาร

โดยในอำนาจฝ่ายบริหาร หรืออำนาจของรัฐบาล รัฐธรรมนูญกำหนดให้มี "คณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติ" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ในการกำกับดูแลการทำงานของรัฐบาล, ในอำนาจนิติบัญญัติ มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเพื่อตรวจสอบผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน และมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ในอำนาจตุลาการ มีองค์กรอิสระ มีศาลรัฐธรรมนูญ ที่กรรมการหลายคนมาจากการแต่งตั้งของ คณะรัฐประหารมีส่วนในการตัดสินคำร้องการเมืองและกำหนดทิศทางของประเทศได้

โดยที่กลไกเหล่านี้ใหญ่กว่าประชาชน ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบและร่วมคัดสรรผู้ใช้อำนาจเหล่านี้ ด้วยเหตุดังเกล่าประชาชนจึงไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจในประเทศนี้อย่างแท้จริง ตุลาการจึงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ตัวอย่างที่สำคัญ เช่น เป็นปกติที่ผู้ใช้อำนาจอาจใช้อำนาจผิดได้ ดังนั้น อำนาจทั้งสามทางจึงต้องมีสมดุลย์ ตรวจสอบกันได้ ในศาลยุติธรรม จึงต้องมีการพิจารณาถึงสามศาลจึงสิ้นสุด แต่ในกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยขององค์กรเดียวผูกพันธ์กับทุกองค์กรในประเทศโดยไม่มีช่องทางให้มีการตรวจสอบจากใครเลย

พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่ นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสนอให้ประชาชนต้องเปลี่ยนศาลจากองค์กรที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นองค์กรในรัฐปกติที่รับใช้ประชาชน เพราะความศักดิ์สิทธิ์นั้นได้ตัดการถกเถียงด้วยเหตุผลออกไป ซึ่งทาง รศ.อนุสรณ์ ได้เสริมถึงประเด็นของระยะห่างที่มหาศาลระหว่างศาลในไทยกับประชาชน เช่น ในการเข้าฟังการพิจารณาคดี กำหนดข้อห้ามมิให้ประชาชนกอดอก ซึ่งเขานึกไม่ออกว่าการกอดอกเป็นการไม่เคารพศาลอย่างไร หากยกเลิกข้อห้ามพิธีกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความศักดิ์สิทธิ์ของศาลได้

ด้านนางสัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ให้ข้อคิดถึงการวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อไม่นานมานี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้อกกกฏที่เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในข้อที่ 10 ของกฏนี้ กำหนดให้ห้ามบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฏหมายตามคำสั่งศาล หรือวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาล โดยไม่สุจริตหรือใช้ถ้อยคำที่มีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น หรืออาฆาตมาดร้าย โดยมองว่าข้อกำหนดนี้มีปัญหาสองด้าน ด้านหนึ่งคือเป็นกฏหมายที่ไม่ได้สัดส่วนระหว่างฐานความผิดกับโทษ ความผิดฐานหมิ่นศาลไม่ควรเป็นความผิดอาญา โดยอีกด้านหนึ่งคือการตีความข้อกฏหมายที่ไม่รัดกุมของกฏข้างต้นที่อาจนำมาซึ่งการใช้กฏหมายล้นเกินได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ