ครม.เตรียมพิจารณาเคาะชุดมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19

ข่าวการเมือง Tuesday March 10, 2020 10:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 1 ตามที่คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ได้พิจารณาอนุมัติไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งผู้ประกอบธุรกิจ และประชาชน ประกอบด้วย

กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอมาตรการทางด้านการเงินและด้านภาษี ดังนี้ มาตรการด้านการเงิน มี 4 เรื่อง ประกอบด้วย

1. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) โดยธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินอื่น ๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ไปปล่อยกู้ต่อให้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2%

2. การปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้สถาบันการเงินพักชำระเงินต้น ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ

3. การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) และเป็น NPL แล้ว โดยจะให้มีการยืดเวลาชำระหนี้, ลดอัตราดอกเบี้ย, ขยายเวลาการกู้เงินให้เป็นระยะเวลายาวมากขึ้น รวมถึงลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายใหญ่ ผู้ประกอบการ SMEs และสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต โดยให้ผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่า 10%

4. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานประกันสังคม โดยจะให้นายจ้างและลูกจ้างกู้ได้ เพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนเวียน โดยหลังจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะกลับไปพิจารณาหลักการดำเนินงาน

ส่วนมาตรการด้านภาษี ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 1. มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ 2. ให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่กู้เงิน Soft Loan และผู้ประกอบการที่ทำบัญชีเดียว ให้สามารถนำภาระดอกเบี้ยเงินกู้มาคำนวณเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้

3. มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน ให้ผู้ประกอบการ SMEs นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ในช่วง 1 เม.ย. - 31 ก.ค. 2563 เพื่อดูแลลูกจ้าง 4. มาตรการให้กระทรวงการคลัง เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศให้เร็วขึ้น หากผู้ประกอบการที่ยื่นแบบผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จะได้รับคืนไม่เกิน 15 วัน ส่วนผู้ประกอบการที่ยื่นแบบปกติ จะไม่เกิน 45 วัน

โดยก่อนหน้านี้ รมว.คลัง ระบุว่าจะมีมาตรการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น 1. ให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนให้กับภาคเอกชนที่เช่าพื้นที่ราชพัสดุ 2. การบรรเทาค่าน้ำ-ค่าไฟ 3. ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง 4.เร่งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ให้รวดเร็วขึ้น และ 5. มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยการขยายวงเงินการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) วงเงินพิเศษ โดยวงเงินใหม่จะต้องซื้อภายใน มิ.ย.63 และต้องซื้อกองทุน SSF ที่ลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65% และลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน ระยะเวลาถือครอง 10 ปี

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ...) พ.ศ...(กำหนดด่านพรมแดนแม่สอด แห่งที่ 2 ของด่านศุลกากรแม่สอด)

กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอ 4 มาตรการ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวม 4 มาตรการ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 4.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1. การคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าที่มีอยู่ 21.5 ล้านครัวเรือน ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก คิดเป็นวงเงินในระบบรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยมีเงินประกันตั้งแต่ระดับ 300-6,000 บาท/มิเตอร์ โดยจะดำเนินการทยอยคืนตั้งแต่รอบบิลสิ้นเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบราว 3 หมื่นล้านบาท

2. การตรึงค่าไฟฟ้าในอัตราราว 3.50 บาท/หน่วย เป็นเวลา 3 เดือนระหว่างเดือนเม.ย.-มิ.ย.63 จากปัจจุบันที่ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.64 บาท/หน่วย

3. การขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 2 รอบบิล ในเดือนเม.ย.-พ.ค.63 สามารถขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้าได้ 6 เดือน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัย ,กิจการขนาดเล็ก และกลุ่มโรงแรม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยว

4. กระทรวงพลังงานจะนำเงินเบื้องต้นจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในวงเงินราว 4,000 ล้านบาท โดยจะบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเงินดังกล่าวมากระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการเร่งสร้างงาน ตลอดจนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยจะเร่งการจัดซื้อจัดจ้างและปรับโครงการให้สอดรับกับนโยบาย ซึ่งจะเป็นการช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

กระทรวงกลาโหม รายงานผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ

กระทรวงพาณิชย์ เสนอผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (TC) ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 5

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทาน เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน จำนวน 5 ฉบับ

กระทรวงมหาดไทย เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิด หรือบางประเภทในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงพญาไท แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวีกรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิด หรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่ แขวงหิรัญรูจี แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะนำเสนอร่างกฎหมายปรับสถานะพืชกระท่อม จากบัญชียาเสพติด เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ซึ่งอ้างอิงผลการศึกษาวิจัยที่พบว่าแม้พืชกระท่อมจะมีผลกระทบต่อร่างกาย แต่ก็ไม่มาก โดยสารสำคัญในกระท่อมที่เรียกว่า "ไมตราเจนีน" ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวด และสามารถนำมาใช้เชิงเศรษฐกิจได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ