"มีชัย"ค้านร่างกม.พรรคฯห้ามผู้ถูกตัดสิทธิการเมืองช่วยหาเสียง

ข่าวการเมือง Friday August 3, 2007 18:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)กล่าวว่า การที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 84 ห้ามผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทั้งช่วยหาเสียงและเป็นที่ปรึกษาพรรคว่าคิดว่า เป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ แต่เมื่อมาถึงสนช.ถ้ายังมีอยู่ก็คงตัดออก เพราะกิจกรรมทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์
"ถ้าเราไปห้ามก็เป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐาน คงทำไม่ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญก็เขียนเป็นหลักไว้แล้ว ดังนั้นทำได้เท่าที่จำเป็น ไม่กระทบต่อสาระสำคัญ และขัดกับรัฐธรรมนูญด้วย"นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวว่า การตัดสิทธิเลือกตั้งถือว่าสูงสุดแล้ว แต่กิจกรรมทางการเมืองถือว่าเป็นวิถีชีวิตของคน ใครปราศรัยที่ไหนก็มีสิทธิที่จะเข้าไปฟัง เป็นกิจกรรมทางการเมือง ใครไม่ชอบใจใครไม่อยากพูดกับใครก็เป็นสิทธิเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานคงไปตัดเขาไม่ได้
สำหรับเหตุผลที่ระบุว่าหากไม่กำหนดไว้แล้วนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิจะไปอยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองจะทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ศักดิ์สิทธ ิ์และจะมีการอ้างชื่อเสียงของผู้ใหญ่ในพรรคไปหาเสียงด้วยแล้ว นายมีชัย กล่าวว่า ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่การห้าม เมื่อตัดสิทธิทางการเมือง คือการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รับสมัครเลือกตั้งและลงประชามติไม่ได้ ถือว่าสูงสุดแล้ว แต่ถึงขนาดห้ามพูดคงไม่ได้
ส่วนการเป็นเจ้าของพรรคแบบทางพฤตินัยแต่ไม่ใช่นิตินัย ถ้าอยู่ในขอบเขตที่คนทั่วไปทำได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นการตั้งนอมินีก็อาจเป็นปัญหา ซึ่งก็คงต้องว่าตามข้อเท็จจริงแต่ละกรณีว่าเขาไปไกลเกินกว่าที่กฎหมายห้ามไว้หรือไม่
"เราก็ต้องเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณ จะไปคิดแทนเขาเองแล้วกำหนดกฎเกณฑ์จนสภาพของความเป็นมนุษย์ธรรมดาหายไปไม่ได้" นายมีชัย กล่าว
ด้านนายเกริกเกียรติ พิพัฒนเสรีธรรม ประธานคณะอนุกรรมาธิการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวว่า การที่นายปองพล อดิเรกสาร อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ระบุว่าเนื้อหาของพ.ร.บ.พรรคการเมืองเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนนั้น คิดว่าไม่น่าใช่เพราะสิทธิของอดีตกรรมการบริหารพรรคในฐานะประชาชนไทยยังคงไว้ตามเดิม ยกเว้นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น
การร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ และไม่ได้เจาะจงใช้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยขอยืนยันว่ากรรมาธิการไม่ได้ไปย่ำยี แต่ได้คำนึงถึงเกียรติยศของพรรคการเมือง ซึ่งในส่วนของบทลงโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นโทษหนัก
"ขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด สามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองไปยังพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงพรรคพลังประชาชน เพื่อไประดมความคิดเห็นและนำมาเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อนที่จะเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ และส่งต่อให้ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เพื่อพิจารณาในวันที่ 20 ส.ค.นี้" นายเกริกเกียรติกล่าว
ด้านนายประพันธ์ นัยโกวิท ประธานคณะอนุกรรมาธิการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง กล่าวว่าประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ ต้องดูหลักการว่าผู้ที่ไม่มีตำแหน่งในพรรคสามารถไปช่วยหาเสียงได้หรือไม่ แต่เท่าที่เสนอมาเฉพาะพรรคที่ถูกยุบในกรณีที่เป็นเหตุร้ายแรงเท่านั้น และรอถามผู้ที่เสนอเข้ามาในร่างแรกก่อน ดังนั้นในชั้นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นข้อยุติเพราะต้องมีขั้นตอนการพิจารณาอีกมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ