"ไพบูลย์"ยื่นค้านบรรจุแก้ รธน.4 ญัตติพรรคร่วมฝ่ายค้านเหตุชื่อซ้ำ เล็งส่งศาล รธน.ตีความ

ข่าวการเมือง Monday September 14, 2020 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อคัดค้านการบรรจุญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการ ประธานสภาผู้แทนราษฎรรับเรื่องไว้

นายไพบูลย์ กล่าวว่า เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 4 ญัตติที่พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นเมื่อวันที่ 10 ก.ย. มีรายมือชื่อส.ส.ซ้ำซ้อนกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอได้เสนอไปเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะจะทำให้จำนวนสมาชิกสภาฯ ที่เข้าชื่อเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) ที่ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา ซึ่งความเห็นนี้เป็นไปตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ที่เคยวินิจฉัยเรื่องของการลงลายมือชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 77 คนเรื่องที่เคยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง(1) ว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วพบว่ามีรายมือชื่อส.ส.ซ้ำกัน

ดังนั้น หากมีการบรรจุญัตติดังกล่าวเข้าระเบียบวาระอาจมีปัญหาเรื่องความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงขอให้มีการตรวจสอบข้อกฎหมายก่อน

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในวันที่ 16 ก.ย.จะเสนอญัตติต่อที่ประชุมรัฐสภาให้ร่วมกันพิจารณาขอให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210(2) การประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7(2) และมาตรา 45 ว่าการยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีรายชื่อซ้ำกับญัตติที่ยื่นไว้ ถือเป็นการลงลายมือชื่อซ้ำหรือไม่ และเห็นว่าหากปล่อยให้ยื่นได้หลายฉบับเช่นนี้จะกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่และประสิทธิภาพของการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาจะต้องเสียเวลาในการลงมติโดยไม่สิ้นสุด

นายชวน กล่าวว่า ทั้ง 4 ญัตติอยู่ในกระบวนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ถึงความถูกต้องในการเข้าชื่อ เบื้องต้นพบว่ามีปัญหาการเข้าชื่อ 3 ฉบับที่ ส.ส.บางคนเข้าชื่อแต่ลายเซ็นไม่เหมือนกัน จึงต้องตรวจสอบว่าเป็นการเข้าชื่อแทนกันหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นญัตติที่มีการเสนอมาทั้ง 4 ฉบับ เป็นคนละเรื่องกัน แม้จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกันแต่คนละประเด็น ดังนั้น ส.ส.มีสิทธิ์ลงชื่อในแต่ละฉบับได้ ไม่ถือว่าเป็นการซ้ำกัน ส่วนจะต้องชะลอหากมีการเข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายชวน ย้ำว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ