สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 51 วาระ 2-3 บ่ายวันนี้

ข่าวการเมือง Wednesday September 5, 2007 10:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 วงเงิน 1.66 ล้านล้านบาทในวาระที่ 2 และ 3 บ่ายวันนี้ หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีนายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ รมว.คลัง เป็นประธาน เสร็จสิ้นการแปรญัตติแล้ว โดยมีการปรับลดวงเงินไปทั้งสิ้น 9,736 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 ว่านโยบายและการบริหารจัดการงบประมาณยังมีหลายหน่วยงานที่กำหนดโครงสร้างและขอบเขตอำนาจหน้าที่ไม่ชัดเจน ทำให้การปฏิบัติงานของบางหน่วยงานมีความซ้ำซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ มีบางตัวชี้วัดที่แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปียังไม่สามารถสะท้อนประสิทธิผลความสำเร็จของงานอย่างแท้จริง
รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนบทบาท หน้าที่ และปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวง กรม โดยให้จัดทำแผนระยะยาว ตลอดจนมอบหมายให้หน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการงบประมาณ
ส่วนการดำเนินงานขององค์การมหาชนและกองทุนและเงินทุนหมุนเวียนบางแห่งยังมีแนวทางการดำเนินงานคล้ายคลึงกับส่วนราชการ แต่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรและการดำเนินงานในอัตราที่สูง ซึ่งรัฐบาลควรพิจารณาทบทวนภารกิจ โครงสร้างองค์กร และค่าใช้จ่ายต่างๆ ขององค์กร รวมทั้งพิจารณายุบเลิกหน่วยงานที่มีผลการดำเนินการไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
นอกจากนี้ รัฐบาลควรทบทวนระยะเวลาการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโครงการของรัฐให้เหมาะสม กรณีที่จำเป็นจะต้องก่อหนี้ผูกพันเงินเกินกว่า 5 ปีงบประมาณ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริหารการเงินการคลังเรื่องความคล่องตัว และเป็นภาระต่อการบริหารงานของรัฐบาลชุดต่อๆ ไป ซึ่งหากรัฐบาลจำเป็นต้องก่อหนี้ผูกพันควรเสนอฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อขออนุมัติก่อน
สำหรับหน่วยงานที่เสนอขอตั้งงบประมาณควรแสดงรายละเอียดข้อมูลให้ชัดเจนและควรแสดงรายละเอียดของงบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น, ควรกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นตามแผนงานที่กำหนดไว้ และควรโอน เปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณ เฉพาะที่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้รับอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติ
และควรประเมินประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และควรแก้ไขระเบียบ ขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ ตลอดจนการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการฯ ของฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อติดตามตรวจสอบผลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานต่างๆ ด้วย
รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการติดตามประเมินผลการดำเนินการ และการใช้จ่ายงบประมาณ และยกฐานะสำนักประเมินผลของสำนักงบประมาณให้เป็นหน่วยงานระดับชาติขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยประหยัดและมีประสิทธิภาพ
พร้อมกันนั้น ควรให้ความสนใจพัฒนาทรัพยากรบุคคลภาครัฐในด้านนามธรรมให้มากขึ้น โดยกำหนดให้ส่วนราชการระบุค่านิยมสร้างสรรค์ของหน่วยงาน และมีการขับเคลื่อนให้บุคลากรของทุกส่วนราชการยึดถือปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้ยุทธศาสตร์การบริหารงานภาครัฐสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย
คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2551 โดยยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีมีคุณธรรมนำความรู้และสามารถปรับตัวสู่สังคมฐานความรู้ เช่น การปฏิรูปการศึกษา ควรให้ความสำคัญวางแผนระยะยาว โดยจัดลำดับความสำคัญให้เหมาะสม เนื่องจากการส่งออกแรงงานเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ การกำหนดหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นการผลิตบุคลากรทางด้านอาชีวะศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน
ยุทธศาสตร์แก้ไขความยากจน ควรปรับปรุงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด โดยคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และควรให้สถาบันการศึกษาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยกำกับดูแล และให้คำปรึกษาแก่ชุมชนให้ด้านการจัดการ และนำผลจากการประเมินโครงการมาลงทุนทางสังคมมาประกอบในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน แม้งบประมาณด้านการวิจัยในแต่ละปีจะมีเป็นจำนวนมากแต่ยังมีความซ้ำซ้อนหรือประเด็นเล็กๆ ที่ไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงเป็นภาพใหญ่
ยุทธศาสตร์การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและแม่น้ำของประเทศไทย, ปัญหาภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้นและส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม, ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายและภาวะการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเมืองและการบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อการคุ้มครองพยานและช่วยเหลือประชาชน ข้าราชการที่เกษียณอายุ และองค์กรตรวจสอบต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเหมาะสม และ เร่งรัดการจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดี
ยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของชาติและความสงบสุขของสังคม นอกจากภารกิจด้านการรักษาความมั่นคงภายในและป้องกันประเทศแล้ว กองทัพยังต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศควบคู่กับการพัฒนางานด้านความมั่นคง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ