รัฐสภาเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ หวั่นเกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ

ข่าวการเมือง Thursday April 8, 2021 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าว แจ้งว่า การประชุมรัฐสภาที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง แต่เมื่อเริ่มเปิดประชุมมีสมาชิกรัฐสภามาประชุมบางตา เนื่องจากมี ส.ว.หลายคนไปฉีดวัคซีนโควิดตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาประสานงานไว้ ทำให้ต้องรอสมาชิกมาครบองค์ประชุมเกือบ 1 ชั่วโมง จนกระทั่งเวลา 10.30 น.มีสมาชิกครบองค์ประชุมแล้ว นายพรเพชร จึงดำเนินการประชุมตามวาระ

โดยนายพรเพชรแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ 5 ส.ส.กลุ่ม กปปส.ไว้พิจารณา ทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ดังนั้นจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่มีอยู่ขณะนี้จึงเหลือ 731 คน มีองค์ประชุม 366 คน

จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ วาระที่สอง มาตรา 42/3 ถึงมาตรา 42/6 เรื่องการลงคะแนนออกเสียงโดยเครื่องออกเสียงอิเลคทรอนิกส์หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ กมธ.เพิ่มเติมให้ลงคะแนนออกเสียงประชามติด้วยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเลคทรอนิกส์ นอกเหนือจากช่องทางลงคะแนนในบัตรลงคะแนนปกติและลงคะแนนทางไปรษณีย์ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ไม่มีใครคัดค้าน

รายงานข่าว แจ้งว่า การพิจารณามาตรา 42/6 กรณีให้อำนาจคณะกรรมการสามารถเห็นสมควรให้ลงคะแนนออกเสียงโดยวิธีอื่นได้ นอกจากการลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้ง การลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ และการลงคะแนนด้วยวิธีอิเลคทรอนิกส์ ปรากฏว่า มี ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายทักท้วงอย่างมาก เนื่องจาก กมธ.ไม่สามารถตอบได้ว่าวิธีการอื่นคืออะไร เกรงว่าจะเป็นการตีเช็คเปล่าให้ กกต.ไปกำหนดวิธีลงคะแนนด้วยวิธีใดๆ ก็ได้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า มาตรา 42/6 เป็นการเขียนเผื่อไว้ในอนาคต กมธ.ไม่สามารถตอบได้ว่าวิธีการอื่นที่นอกเหนือจากการลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้ง การลงคะแนนทางไปรษณีย์ และการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร เป็นการเขียนโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะใช้วิธีใดในการออกเสียง คิดแบบไกลเกินไป อย่างไรก็ตาม หลังจากสมาชิกอภิปรายครบถ้วนแล้วที่ประชุมลงมติเห็นชอบ มาตรา42/3-42/6 ตามที่ กมธ.เสนอมาทุกมาตรา

อย่างไรก็ตาม การลงมติในแต่ละมาตราถึงแม้จะมีองค์ประชุมครบก็ตาม แต่เกิดความกระท่อนกระแท่นเนื่องจากองค์ประชุมเกินไม่ถึง 15 เสียง จนกระทั่งก่อนลงมติมาตรา 50/1 นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย หารือนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประชุมขณะนั้นว่าหากองค์ประชุมไม่ครบจะเกิดอะไรขึ้นกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติ

นายชวน ชี้แจงว่า การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ รัฐสภาขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญมา 2 ครั้งแล้ว และคงจะไม่มีครั้งที่ 3 แน่นอน เพราะทำเรื่องขอกราบบังคมทูลเปิดประชุมสมัยวิสามัญก็ต้องทำหน้าที่ หากไม่ทำจะอธิบายไม่ได้ แต่เรื่ององค์ประชุมมีปัญหาก็ต้องขอร้องกัน วันนี้การพิจารณาดำเนินมาเกินครึ่งทางแล้ว ขอให้สมาชิกรัฐสภาอดทนกันอีกไม่นาน

อย่างไรก็ตาม ถ้าองค์ประชุมไม่ครบ กฎหมายฉบับนี้ก็ต้องค้างการพิจารณา แล้วพิจารณากันใหม่ในเดือน พ.ค. ซึ่งก็ต้องดูกันว่ามีความพร้อมหรือไม่ อย่างไร

จากนั้นที่ประชุมก็ได้ดำเนินการพิจารณาต่อจนกระทั่งก่อนลงมติมาตรา 53 นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.ได้ขอนับองค์ประชุมแบบขานชื่อ แต่นายชวนได้ขอร้องให้ดำเนินการประชุมต่อไป เพราะองค์ประชุมยังครบอยู่

ต่อมาเวลา 14.40 น.นายชวนขออนุญาตพักประชุม 10 นาทีเพื่อขอหารือกับวิป 3 ฝ่าย และได้เปิดประชุมอีกครั้งในเวลา 15.05 น.โดยนายชวนให้สมาชิกรัฐสภาแสดงตนเพื่อตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ หมวด 8 การคัดค้านการออกเสียง และได้ทอดเวลาอยู่ระยะหนึ่ง เพื่อรอให้สมาชิกรัฐสภาได้เสียบบัตรแสดงตน

จากนั้นนายชวน ขออนุญาตที่ประชุมเลื่อนการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ไปประชุมครั้งต่อไป เนื่องจากมีความจำเป็นต้องให้องค์ประชุมมีความสมบูรณ์ แม้จะยังไม่นับองค์ประชุมแต่ก็เห็นว่าควรจะเลื่อนออกไป จากนั้นเลขาธิการสภาฯ ได้อ่านพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมวิสามัญ และปิดประชุมในเวลา 15.19 น.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ