หมอระวี ชงสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เชื่อต้องส่งศาล รธน.ตีความจึงจะได้ข้อยุติ

ข่าวการเมือง Monday May 9, 2022 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และนายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ร่วมกันแถลงข่าวในนามพรรคเล็ก ถึงวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่า วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยการหาร 100 เป็นวิธีที่พรรคการเมืองใหญ่เป็นผู้เสนอ ก็คือการนำผลรวมคะแนนพรรคของทุกพรรคทั่วประเทศมาหารด้วย 100 เช่น 37 ล้าน หารด้วย 100 = 370,000 คือคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

ส่วนวิธีที่พรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กเสนอ คือการคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยการหาร 500 แบบที่ 1 คือการคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน ก็คือการนำผลรวมคะแนนพรรคของทุกพรรคทั่วประเทศไปหารด้วย 500 เช่น 37 ล้านหารด้วย 500 ก็จะเท่ากับ 74,000 โดยการคำนวณหาจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรค ก คือ ผลรวมคะแนนพรรคของพรรค ก จากทุกเขต คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมี 1 คน 1,000,000 หาร 74,000 = 13.5 ส.ส. ส่วนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก ก็คือ จำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก - จำนวน ส.ส.เขตพรรค ก ตัวอย่าง ส.ส.พึงมี (13.5) - ส.ส.เขต (7) = ส.ส.บัญชีรายชื่อคือ 6.5

นพ.ระวี กล่าวว่า ใน 2 วิธีข้างต้น จะเห็นว่าการหารด้วย 100 เข้ามาตรา 91 เพียงมาตราเดียว มาตรา 93 และ 94 รวมไปถึงขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ระบุถึง ส.ส.พึงมี, คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ และระบบจัดสรรปันส่วนผสม ส่วนการหารด้วย 500 วิธีที่ 1 จะไม่เข้ามาตรา 91 แต่เข้ากับมาตรา 93, 94 ซึ่งทั้ง 2 วิธีถือว่ายังมีปัญหาทั้งคู่ การอ้างว่าหาร 100 ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ถูกต้อง ทางพรรคเล็กจึงคิดวิธีการคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยการหาร 500 แบบที่ 2

ส่วนแบบที่ 2 คือการคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน ก็คือผลรวมคะแนนเขต + คะแนนพรรคของทุกพรรค หาร 500 ตัวอย่าง 37 ล้าน + 37 ล้าน = 74 ล้าน =148,000 จากนั้นนำคะแนนเขตทั้งหมดพรรค ก + คะแนนพรรคทั้งหมดพรรค ก คะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน ตัวอย่าง =1,000,000+800,000 หารด้วย 148,000 = 1,800,000 หาร 148,000 = 12.16 คน ส่วนวิธีหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก ก็ให้นำจำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก - จำนวน ส.ส. เขต พรรค ก ตัวอย่าง = ส.ส.พึงมี (12.16 คน) - ส.ส.เขต (7) = ส.ส.บัญชี 5 คน ซึ่งวิธีนี้จะไม่เข้ากับมาตรา 91 นอกเหนือจากนั้นวิธีนี้เข้ากับมาตรา 93, 94 รวมไปถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 60

นพ.ระวี กล่าวว่า ใน กมธ. ก็ได้พูดคุยกันทั้งหมด มีการแลกเปลี่ยนกัน ตอนนี้เสียงของ ส.ว.แตกออกไป 2 ฝั่ง แม้กระทั่ง ส.ส.ของพรรคใหญ่ที่เสนอหาร 100 ก็ยกพรรคจะมาลงมติหาร 500 แต่ไม่ขอเปิดเผยว่าเป็นพรรคใด

นพ.ระวี กล่าวว่า ไม่ว่าวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะเป็นแบบไหน ก็ไม่สามารถถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งหมด และสุดท้ายจะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นผู้ชี้ขาดว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ