นิพนธ์ แจงชะลอจ่ายเงินค่ารถอบจ.สงขลา เหตุมีทุจริต/ปัดออกโฉนดเอื้อนายทุน

ข่าวการเมือง Wednesday July 20, 2022 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีการละเว้นไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ ให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัด วงเงินกว่า 50 ล้านบาทว่า เป็นการจัดซื้อก่อนที่ตนเองจะรับตำแหน่งนายกอบจ. โดยมีการจัดซื้อ 3 ครั้ง โดยการซื้อครั้งที่ 3 มีการส่งมอบตอนที่ตนเองรับตำแหน่งแล้ว และได้ตั้งปลัดอบจ.เป็นประธานตรวจรับโครงการจัดซื้อรถครั้งนี้ โดยราคารถมีราคาสูงถึง 25 ล้านบาท และไม่มั่นใจว่าจะใช้งานได้ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้หรือไม่ จึงสั่งให้ตรวจสอบระบบไฮโดรลิกต์ ระบบการเป่าลม และเมื่อตรวจสอบแล้วว่า ใช้งานได้ตามคุณสมบัติ จึงให้นำรถไปขึ้นทะเบียนที่กรมการขนส่งจังหวัดเพื่อให้เป็นกรรมสิทธิของอบจ.สงขลา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ประวิงเวลาแต่อย่างใด

แต่ในวันที่ 5 ก.พ. 57 รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ส่งหนังสือมาถึงอบจ.สงขลาว่ามีการร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสและให้ระงับการจ่ายเงิน จึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยคณะกรรมการสอบสวนฯ สรุปว่า การประมูลมีการกระทำที่ไม่สุจริต มีการสมยอมกันในการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) ทำให้ไม่เป็นการแข่งขันราคาที่เป็นธรรม และได้มีการรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป รวมถึงได้มีการรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภาค 15 ได้รับทราบด้วย

ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือแจ้งกลับมาเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 57 แจ้งอบจ.สงขลาว่าขณะนี้ เรื่องพิพาทอยู่ในการพิจารณาศาลปกครองแล้ว ห้ามผู้บริหารไปดำเนินการใดๆอันอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล เท่ากับว่า อบจ.สงขลา ยังไม่สามารถจ่ายเงินได้จนกว่าศาลมีคำสั่งพิพากษาเด็ดขาด ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ดังนั้น สาเหตุที่ อบจ.สงขลาไม่จ่ายเงิน เนื่องจากการซื้อขายไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะมีการฮั้วประมูล ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาตนเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพราะไม่ยอมจ่ายเงินนั้น ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของป.ป.ช. เพราะเห็นว่าเมื่อปลัดอบจ.สงขลาในฐานะรับมอบอำนาจอนุมัติสั่งการ ลงนามสัญญาซื้อขายในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ไปลงนามรับรถแทนนายกอบจ.ถึง 51 ล้านบาท จึงเป็นการตรวจสอบมิชอบ ดังนั้น การชะลอการจ่ายเงินจึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องแล้ว เพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐและภาษีของประชาชน

นายนิพนธ์ ยืนยันว่า กรณีนี้ที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาและมีคำสั่งคืนสำนวนให้คณะกรรมการป.ป.ช.แล้ว ซึ่งตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับใครทั้งสิ้น และตนได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง กรณีให้เพิกถอนคำสั่งรมว.มหาดไทยและคณะกรรมการป.ป.ช.ที่ให้พ้นจากตำแหน่ง อบจ.สงขลา ซึ่งคดียังอยู่ในศาลปกครองกลาง และแม้จะมีกรณีที่มีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตนเองขาดคุณสมบัติหรือไม่และขอให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว แต่ศาลมีคำสั่งว่าผู้ถูกร้อง คือ ตนยังไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง

ส่วนในประเด็นการออกเอกสารสิทธิบนเกาะนุ้ยนอก จังหวัดกระบี่ โดยมิชอบนั้น นายนิพนธ์ ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายออกโฉนดบนที่ดินรัฐ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับเจ้าหน้าที่กระทำความผิด แต่ตนไม่ได้ปล่อยปะละเลยและได้สั่งการให้กรมที่ดินดำเนินการตามกฎหมายเคร่งครัดทั้งทางวินัยและอาญาตั้งแต่ 17 ธ.ค. 2564 และกรมที่ดินมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและมีมติเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 12360 และมติให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 รายออกจากราชการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กรมที่ดินเพื่อพิจารณว่าอีกครั้ง

"ผมมีนโยบายมาตลอดว่าถ้าที่ดินใดเป็นที่ดินของรัฐ จะออกโฉนดให้ไม่ได้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นที่ดินของรัฐและมีประชาชนเข้ามาทำกิน และปฏิบัติตามกฎหมาย ก็จะดำเนินการออกสำรวจและออกโฉนดที่ดินให้ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและลดความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน" รมช.มหาดไทย กล่าว

ส่วนกรณีพิพาทที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ล่าช้ากว่ากรณีเพิกถอนที่ดินในเขตป่าไม้จังหวัดราชบุรีนั้น นายนิพนธ์ กล่าวว่า ถ้าที่ดินใดเป็นของรัฐจะไม่สามารถออกโฉนดได้ และการดำเนินการที่ผ่านมาตนเองก็มีความระวังตลอดว่าจะต้องไม่ให้เป็นประเด็นทางการเมือง โดยกรณีที่จังหวัดราชบุรีที่เกี่ยวข้องกับมารดาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เมื่อปี 63 ได้มีผู้ร้องไปที่กรมป่าไม้และแจ้งให้กรมที่ดินเพิกถอน กรมที่ดินมีคำสั่งเมื่อเดือนก.พ. 64 ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ใช้ระยะเวลาตรวจสอบประมาณ 1 ปี และมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ 59 แปลงในเขตป่าไม้ถาวร ซึ่งสาเหตุที่ดำเนินการได้เพราะกรมป่าไม้เข้ามานำชี้ในพื้นที่ชัดเจน และใช้ดาวเทียมรังวัดที่ดิน ต่างจากกรณีเขากระโดง พบว่า เป็นการโต้แย้งในเรื่องแผนที่ท้ายที่ดิน กรมที่ดินขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มานำชี้ที่ดิน แต่การรถไฟฯแจ้งว่า ไม่ต้องนำชี้เพราะให้ใช้ตามแผนที่ท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นพยานหลักฐานในคดี

สำหรับนโยบายการให้ต่างชาติถือครองที่ดินนั้น นายนิพนธ์ ชี้แจงว่า ประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดให้คนต่างชาติถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ตามที่กฎหมายกำหนดเมื่อปี 42 และมีกฎกระทรวงมหาดไทยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีเงินลงทุน 40 ล้านบาทและต้องลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และการถือครองที่ดินทำได้เฉพาะเพื่อการอยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ในเขตพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น ใช้บังคับมาถึงปัจจุบันมีคนต่างชาติใช้สิทธิเพียง 10 ราย มี 1 ราย ปัจจุบันเดินทางกลับต่างประเทศ จึงขายคืนที่ดินแล้ว อีก 1 รายได้สัญชาติไทยแล้ว จึงเหลือผู้มีสิทธิเพียง 8 รายเท่านั้น

"มีการแก้ไขแค่ระยะลงทุน 5 ปีให้เหลือ 3 ปีเท่านั้น อย่างอื่นเป็นกฏหมายเก่าหมด เพราะฉะนั้นไม่มีการขายชาติใดๆทั้งสิ้น เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น"นายนิพนธ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ