ก้าวไกล แฉนายกฯ จัดซื้อสปายแวร์ ใช้สอดแนมกลุ่มเห็นต่าง

ข่าวการเมือง Thursday July 21, 2022 18:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในประเด็นที่นายกฯ ใช้งบประมาณไปกับอาวุธทางไซเบอร์ หรือ Pegasus มาสู้กับประชาชนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล โดยล่าสุด รัฐบาลไม่ได้ใช้เพียง IO แต่ใช้อาวุธสงครามปายแวร์ชั้นนำของโลก หรือ Pegasus จากภาษีของประชาชน ในการติดตามประชาชนถึงในบ้าน เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา iLaw ได้ร่วมกับ Citizen Lab และ DigitalReach เผยหลักฐานว่านายกฯ ใช้ Pegasus สอดแนมประชาชนที่มีความเห็นต่างกับรัฐบาลมาตั้งแต่พ.ค. 57 จำนวนอย่างน้อย 35 คน โดยมีทั้งนักกิจกรรม นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ NGO ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยไม่อยู่ในข่ายอำนาจของรัฐบาล

สำหรับ Pegasus สร้างโดยบริษัทเอกชนชื่อ NSO Group ของประเทศอิสราเอล โดยเป็นระบบที่จะขายให้รัฐบาลเท่านั้น โดยอ้างว่าใช้เพื่อติดตามเฝ้าระวังการก่อการร้าย เพื่อทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ ยาเสพติด ตลอดจนอาชญากรรมต่างๆ สำหรับการทำงานของ Pegasus คือ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมด เช่น ดักฟังโทรศัพท์ ประวัติการโทรเข้า-ออก เส้นทางการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ตารางนัดหมายรวมทั้งสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ และทำได้แม้กระทั่งสั่งเปิด-ปิดกล้อง และไมโครโฟนเพื่อบันทึกบทสนทนา

นอกจากนี้ Pegasus เวอร์ชันที่ใช้อยู่คือ 2015 มีระบบแจ้งเตือนให้แฮกเกอร์รู้ว่า เมื่อเป้าหมายเข้าสู่พื้นที่ Hot Zone การพบปะระหว่างเป้าหมาย ตั้งค่าหมายเลขโทรศัพท์เฝ้าระวัง และคีย์เวิร์ดเฝ้าระวัง

"Pegasus ไม่ต่างอะไรกับอาวุธสงครามที่ทรงพลังเป็นอย่างมาก ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดยุทธวิธี แต่ที่ทำให้ Pegasus น่ากลัวกว่าสปายแวร์ที่มีอยู่ทั้งหมดในโลก คือ ป้องกันไม่ได้ เพราะมี Zero-Click ฝังอยู่ตลอดไป ไร้ร่องรอยในการตรวจสอบ ผู้ถูกตามไม่รู้ตัว และการเปลี่ยนเบอร์ไม่ตอบโจทย์" นายพิจารณ์ กล่าว

นายพิจารณ์ กล่าวว่า ในต่างประเทศ มีรายงานการตรวจพบการใช้ Pegasus ใน 45 ประเทศ ในปี 64 องค์กรและสื่อระดับโลกกว่า 10 ประเทศ ร่วมสอบสวนในชื่อ "Pegasus Project" ซึ่งมีการเปิดโปงการใช้ Pegasus ในการโจมตีพลเมือง ทั้งนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักสิทธิมนุษยชน ที่เห็นต่างกับรัฐบาล โดยสื่อขนานนามว่า Pegasus เป็นภัยอันตรายต่อประชาธิปไตยทั่วโลก

"การโจมตีสอดแนมประชาชนที่เห็นต่างแบบนี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่สากลยอมรับไม่ได้" นายพิจารณ์ กล่าว

นายพิจารณ์ กล่าวต่อว่า สุดท้ายเมื่อรัฐบาลของประเทศอิสราเอล NSO ถูกกดดันอย่างหนัก จึงประกาศลดการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นสปายแวร์จากอิสราเอลทั้งหมด จากเดิม 102 ประเทศ เหลือเพียง 37 ประเทศ ซึ่งไทยเองก็โดนแบนห้ามซื้ออาวุธไซเบอร์ เพราะนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ตั้งแต่ พ.ย. 64 แต่เนื่องจากการแบนในครั้งนั้นไม่ได้มีผลย้อนหลัง Pegasus ถูกซื้อและมีการเซ็นสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว จึงยังใช้งานต่อเนื่องได้

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการใช้สปายแวร์ อีก 2 ตัวในประเทศไทย คือ 1. Remote control system (RCS) ของบริษัท Hacking Team ประเทศอิตาลี โดยมีข้อมูลว่า ในรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยช่วงปลายปี 56 กรมราชทัณฑ์ได้ใช้งบประมาณ 13.5 ล้านบาท ต่อเนื่องมาถึงปี 57 กองทัพบกได้ใช้งบประมาณ 14.4 ล้านบาท ในการจัดซื้อ RCS โดย RCS มีคุณสมบัติคล้าย Pegasus แต่ไม่มี Zero-click พบการใช้ใน 21 ประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการจัดซื้อในครั้งนั้นเป็นเพื่อความมั่นคงของประเทศ ไม่เชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะใช้อาวุธแบบนี้เพื่อโจมตีประชาชน แต่หลังการรัฐประหารยึดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่าทิศทางการใช้สปายแวร์จะเปลี่ยนไป และพุ่งเป้าไปที่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร

2. สปายแวร์ Circles ของบริษัท NSO ที่พบในประเทศไทยและอีก 24 ประเทศทั่วโลก พบการใช้ในไทยเดือนก.ย. 58 ทั้งนี้ มีความแตกต่างกับ Pegasus คือไม่ได้โจมตีที่โทรศัพท์ แต่จะโจมตีที่เครือข่ายของโทรศัพท์ เพื่อเข้าไปดักฟัง ดักจับข้อมูลทางข้อความ และค้นหาตำแหน่งของโทรศัพท์ โดยรายงานของ Citizen Lab มี 3 หน่วยงานในประเทศไทยที่ใช้ คือ หน่วยข่าวกรองกองทัพบก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอรมน.) และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.)

"รัฐบาลใช้สปายแวร์อย่างไร ถูกวัตถุประสงค์หรือไม่ แต่ภายใต้นายกฯ ที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่มั่นใจว่าอาวุธไซเบอร์เหล่านี้จะไม่หันเข้าหาประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ ใช้งานสปายแวร์เล่นงานผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร นี่เป็นท่าไม้ตายคลาสสิกของเผด็จการทั่วดลก ท่าที่ 1 คือไม่รู้ ไม่ได้ซื้อ ไม่มี ไม่ยอมรับ ถ้าจวนตัวมีหลักฐาน ท่าที่ 2 คือจะยอมรับเพียงครึ่งหนึ่ง และถ้ามีหลักฐานว่าผิดกฎหมาย ก็จะใช้ท่าไม้ตายท่าที่ 3 โบ้ยไปที่หน่วยงานราชการ แก้ตัวว่าไม่มีส่วนรู้เห็น และท่าไม้ตายสุดท้าย ท่าไม้ตายเฉพาะตัว คือ อาจจะบอกว่าคนที่ถูกโจมตีเป็นภัยต่อความมั่นคง สมควรต้องโดนอยู่แล้ว ป้ายสีว่าก้าวล่วงสถาบัน เอาสถาบันเป็นเกราะกำบัง" นายพิจารณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ