(แก้ไข) ป.ป.ช.ตั้งอนุไต่สวนกรณีถอดถอน"จักรภพ"-กรณีออกหมายจับอดีตอธิบดี DSIมิชอบ

ข่าวการเมือง Thursday June 5, 2008 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติให้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ยื่นถอดถอนนายจักรภพ เพ็ญแข อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อาจถึงขั้นเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี และ กรณีอดีตอธิบดีดีเอสไอ ร้องเรียนถูกตำรวจ สภ.วังน้อย ออกหมายจับโดยมิชอบ พร้อมทั้งสั่งรวบรวมข้อมูลตั๋วชมฟุตบอลแชมเปี้ยนลีค รมว.เกษตรฯ 
นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวน 2 กรณี โดยกรณี
แรกเป็นคำร้องขอที่ ส.ส.ปชป.ที่ได้ยื่นถอดถอนนายจักรภพในฐานะกำกับดูแลสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีของกรมประชาสัมพันธ์ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 และ 13 ซึ่งประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องดังกล่าวมาให้ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนจะเป็นผู้ดำเนินการไต่สวนเรื่องนี้เอง
"ป.ป.ช.จะต้องดำเนินการต่อไปแม้ว่ารัฐมนตรีคนนี้จะลาออกจากตำแหน่งแล้วก็ตาม เพราะการถอดถอนออกจากตำแหน่งนั้นถ้าเห็นว่ามีมูลจะต้องเสนอเรื่องไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอน หากวุฒิสภามีมติถอดถอนก็ส่งผลให้ผู้นั้นห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี รวมทั้งหากเป็นความผิดในทางอาญา ป.ป.ช.จะต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป จึงเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการไต่สวนให้เสร็จสิ้นกระบวนความ" นายกล้านรงค์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ 2 เป็นคือ คำร้องของนายสุนัย มโนมัยอุดม เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.) ซึ่งเป็นอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ที่ได้กล่าวหาร้องเรียนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ไม่สามารถขอศาลออกหมายจับนายสุนัยได้ ซึ่ง ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.จึงได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยให้นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน
นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังมีมติให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการรวบรวมข้อมูลกรณีที่นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปประเทศรัสเซียและรับบัตรชมการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีกนัดชิงชนะเลิศว่าเข้าข่ายลักษณะที่ห้ามรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 และประกาศ ป.ป.ช.เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2543 ที่ห้ามรับทรัพย์สินเกินกว่า 3 พันบาทหรือไม่
"หากพบว่ามีมูลจะต้องมีความผิดตามมาตรา 122 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" นายกล้านรงค์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ