อดีต กมธ.ยกร่างฯ ชี้นักการเมืองค้านรัฐธรรมนูญปี 50 เหตุสกัดช่องทุจริต

ข่าวการเมือง Monday August 25, 2008 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 กล่าวว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองตกเป็นเป้าหมายของผู้ไม่เห็นด้วยที่จะล้มล้างและทำลายลงให้ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นประเทศจะเสียโอกาสดีที่สุดในการแก้ปัญหาซื้อเสียงขายเสียง ซึ่งเป็นมะเร็งร้ายเกาะกินคนไทยมาเป็นเวลานาน
"มาตรานี้เป็นกุศโลบายที่กำหนดหรือกำกับพฤติกรรมของนักการเมืองให้ไม่ซื้อเสียงโดยเด็ดขาด มีคุณสมบัติการเป็นพรรคการเมืองที่ดี มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ถูกดูถูกว่าเป็นเพียงนักเลือกตั้งซื้อเสียงเข้ามา หากพรรคไหนรักษามาตรฐานนี้ไม่ได้ กรรมการบริหารพรรคไปซื้อเสียงแล้วจับได้ พรรคการเมืองนั้นไม่ใช่สถาบัน แต่เป็นแค่แก๊งค์โจรที่สถาบันการเมืองและพรรคการเมืองต้องช่วยกันขจัดออกไปเพื่อศักดิ์ศรีสถาบันการเมือง ถ้าทำความเข้าใจให้เป็นที่ปรากฏต่อประชาชนมั่นใจว่ามาตรานี้จะอยู่กับรัฐธรรมนูญต่อไปตราบนานเท่านาน ไม่ว่าใครจะมาร่างมาเขียนก็ตาม" นายจรัญ กล่าวในระหว่างเสวนาเรื่อง "1 ปีกับฤทธิ์เดชของรัฐธรรมนูญปี 50" ซึ่งจัดโดยชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
ด้าน นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาว่ามีความพยายามของ ส.ส.ที่จะไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวมองว่าเป็นเพราะมีการบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามละเมิดอำนาจศาลอยู่ ซึ่งส่วนนี้รัฐธรรมนูญปี 40 ไม่มี จึงได้นำมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นคนที่ออกมาคัดค้านสะท้อนให้เห็นว่ามีความต้องการจะให้มีการละเมิดอำนาจศาลใช่หรือไม่
นายสมคิด กล่าวว่า ตนเองไม่คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอยู่รอดมาได้ครบ 1 ปีเพราะที่ผ่านมามีการป้ายสีรัฐธรรมนูญมาตลอด โดยพยายามนำไปเปรียบเทียบว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ดีกว่า ทั้งที่ความจริง ส.ส.ร.ชุดที่ร่างรัฐธรรมนูญ 40 ไม่มีใครที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน แม้มาจาก ส.ส.ร.จังหวัด แต่ก็ให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งขณะนั้นคัดสรรเหลือ 99 คน
"ยังเดาไม่ออกว่าหากใช้รัฐธรรมนูญปี 40 กับรัฐบาลชุดนี้บ้านเมืองจะไปอย่างไร อย่างไรก็ตามหากเขียนรัฐธรรมนูญตรงกับเจตนารมณ์ของนักการเมืองเขาอาจมองว่าดีก็ได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ได้สร้างสมดุลของอำนาจ 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการพอสมควร น่าจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" นายสมคิด กล่าว
ขณะที่ นายศรีราชา เจริญพานิช เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และอดีต กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาเป็นไปโดยเจตนาสุจริตเพราะต้องการให้มีการตรวจสอบแต่คนที่จะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือคนที่เสียผลประโยชน์และคิดว่าเป็นยาแรงเลยต้องมาแก้ไข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ