(เพิ่มเติม) นายกฯ เสนองบ'53 ต่อสภาฯ คาดศก.ฟื้นตัวใน Q4/52 ก่อนเติบโต 2-3% ในปี 53

ข่าวการเมือง Wednesday June 17, 2009 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรฐมนตรี เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 53 วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นได้ราวไตรมาส 4/52 และในปี 53 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ราว 2-3% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0-1%

แรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญมาจากแรงฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก การระดมทุนจากแหล่งต่างๆ เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ควบคู่ไปกับการมีรากฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในระยะยาว

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 53 วงเงินงบประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลง 12.9% จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 52 โดยงบประมาณแบบขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท ประมาณการณ์รายได้ไว้ที่ 1.35 ล้านล้านบาท

สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 53 รัฐบาลแบ่งรายจ่ายเป็น 3 ส่วน คือ รายจ่ายประจำปี 1,436,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25,007 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 52 หรือเพิ่มขึ้น 1.8% โดยรายจ่ายประจำคิดเป็นสัดส่วน 84.5% ของวงเงินงบประมาณ, รายจ่ายลงทุน 212,689 ล้านบาท ลดลง 217,272 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 52 หรือลดลง 50.5% โดยรายจ่ายลงทุนคิดเป็นสัดส่วน 12.5% ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 50,920 ล้านบาท ลดลง 12,755 ล้านบาทจากงบประมาณปี 52 หรือลดลง20% โดยรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้คิดเป็นสัดส่วน 3% ของวงเงินงบประมาณ

กรอบยุทธศาสตร์ภายใต้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 53 มีทั้งหมด 8 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความเชื่อมั่นและการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ 144,591.4 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและเอกชน โดยสร้างความสมานฉันท์ การปฏิรูปการเมืองให้มีเสถียรภาพ แก้ไขปัญหาความไม่สงบและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการพื้นฐานเพื่อพัฒนาระบบการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางราง

2.ยุทธศาสตร์ด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐ 173,192 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เทิดทูนและพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและแก้ไขการก่อการร้าย และอาชญากรข้ามชาติ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการเผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบ

3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต 506,640.2 ล้านบาท เพื่อดำเนินการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบโครงสร้างและประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพิ่มโอกาสการศึกษาให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องตลอดชีวิต พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ และให้ความคุ้มครองและสนับสนุนการจัดสวัสดิการด้านแรงงาน

4.ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ 158,707.7 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจในภาพรวมให้มีการขยายตัวและสร้างความยั่งยืนอย่างมีเสถียรภาพ ภายใต้กรอบการดำเนินการทางการคลัง รักษาเสถียรภาพภาคการเงินและตลาดทุน ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงตลาดการค้าและการลงทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

5.ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 29,719.4 ล้านบาท เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการบริหารจัดการให้เกิดความสมดุล และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ส่งเสริมการปลูกป่าไม้ ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ จัดทำแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างรัฐและเอกชน จัดให้มีระบบป้องกันเตือนภัยเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติและสาธารณภัย

6.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม 11,960.8 ล้านบาท เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการวิจัยขั้นพื้นฐานในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งส่งเสริมและผลิตบุคลากรด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคการผลิต และการให้บริการได้อย่างเพียงพอ

7.ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 7,357.7 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ ความร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียน รวมทั้งบทบาทไทยในเวทีโลก สนับสนุนการเข้าร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งทวิภาคีและพหุภาคี ดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย

8.ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 241,228.3 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพการบริหารงานของหน่วยงานของรัฐให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการบังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริตภาครัฐ ตลอดจนสนับสนุนการบริหารงานของรัฐสภา ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีรายการค่าดำเนินการภาครัฐ วงเงิน 426,602.5 ล้านบาท เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมถึงการบริหารบุคลากรภาครัฐและการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ